บทความ เรื่อง : นิสิตจุฬาฯวิจัยน.ศ.ไม่แคร์ชิงสุก เมินใช้
   


บทความเลขที่ 115
คนสร้างบทความ :
a
วันที่ตั้งบทความ :
2004-02-06
คะแนนบทความ :
1151(เฉพาะเดือนนี้ )
จำนวนคนอ่าน :
3594(เฉพาะเดือนนี้ )
   


นิสิตจุฬาฯวิจัยน.ศ.ไม่แคร์ชิงสุก เมินใช้

------------------------------------------------------------------------------------------------
นิสิตจุฬาฯวิจัยพบ น.ศ.ไม่แคร์ชิงสุก เมินใช้"สกุล"สามี
มติชน



รายงานเชิงวิจัยจุฬาฯพบ น.ศ.ไทยสนใจชีวิตโสดเพิ่มขึ้น มองการแต่งงานไม่ใช่สิ่งสำคัญในชีวิต พร้อมอยู่ด้วยกัน-มีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่ง ระบุถือเป็นเรื่องธรรมดา ไม่แคร์หากหย่าร้างถ้าทนกันไม่ได้ มีผู้หญิง 86% อยากใช้นามสกุลตัวเองหลังแต่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากรายงานเชิงวิจัยเรื่อง "แนวโน้มการแต่งงานของคนรุ่นใหม่" ที่จัดทำโดย น.ส.บง กช เกษมโกสินทร์ น.ส.ปาริฉัตร ศรีฟ้า น.ส.อาทิตยา ดวงคำ น.ส.อุมาวรรณ รุยาพร และ น.ส.ยูโกะ ทาเคอุฉิ นิสิตคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิชาการศึกษาเพื่อพัฒนาสังคม มีนายอมรวิชช์ นาครทรรพ เป็นอาจารย์เจ้าของวิชา โดยคณะผู้วิจัยต้องการศึกษามุมมองของคนรุ่นใหม่เกี่ยวกับการใช้ชีวิตคู่ ศึกษาค่านิยมที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ศึกษาปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแนวคิด ทัศนคติ ค่านิยมเกี่ยวกับการแต่งงานของคนรุ่นใหม่

รายงานดังกล่าวได้ศึกษาจากการเก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม 470 ชุด แบ่งเป็น ชาย 210 คน และหญิง 260 คน ความเห็นของผู้ที่เรียนอยู่ระดับปริญญาตรีในสถาบันอุดมศึกษา ได้แก่ จุฬาฯ, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.), มหาวิทยาลัยศิลปากร, มหาวิทยา ลัยรามคำแหง, มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ(เอแบค), มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น, มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, สถาบันราชภัฏสวนดุสิต และสถาบันราชภัฏสวนสุนัน ทา รวม 9 สถาบัน อายุระหว่าง 18-23 ปี และสัม ภาษณ์กลุ่มตัวอย่าง

สำหรับผลการสำรวจความเห็นในหัวข้อต่างๆ พบว่า ความต้องการที่จะแต่งงานในอนาคต 66.59% แบ่งเป็นชาย 75.23% หญิง 59.61% แต่งก็ได้ไม่แต่งก็ได้ 27.44% แบ่งเป็นชาย 18.09% หญิง 35% และไม่แต่ง 4.46% แบ่งเป็นชาย 4.76% และหญิง 4.23% รูปแบบชีวิตคู่ที่ต้องการ พบว่า จดทะเบียนสมรส 68.72% แบ่งเป็นชาย 64.28% หญิง 48.84%, อยู่ด้วยกันโดยไม่แต่งงาน 46.17% แบ่งเป็นชาย 20% หญิง 11.15% และไม่ต้องการแต่งงาน 6.38% แบ่งเป็นชาย 9.04% หญิง 4.23% ความต้องการมีบุตร ต้องการ 85.53% แบ่งเป็นชาย 86.19% หญิง 85% และไม่ต้องการ 12.34% แบ่งเป็นชาย 10.47% หญิง 13.84%

ความคิดเห็นเกี่ยวกับการที่หญิงสามารถเลือกนามสกุลได้หลังการสมรส พบว่า เห็นด้วย 77.23% แบ่งเป็นชาย 65.2% หญิง 86.92% ไม่เห็นด้วย 21.48% แบ่งเป็นชาย 33.33% และหญิง 11.92% ความคิดเห็นเกี่ยวกับการหย่าร้าง เป็นเรื่องธรรมดา 62.55% แบ่งเป็นชาย 53.8% หญิง 69.61% ไม่ยอมให้เกิดขึ้นในชีวิต 31.48% แบ่งเป็นชาย 40% หญิง 24.61% เป็นตราบาปของชีวิต 4.46% แบ่งเป็นชาย 5.23% หญิง 3.84%

ความเห็นเกี่ยวกับการอยู่ด้วยกัน/มีเพศสัมพันธ์กันก่อนแต่งงาน พบว่า ไม่ใช่เรื่องแปลก 43.61% แบ่งเป็นชาย 54.28% หญิง 35% เลี่ยงได้เป็นเลี่ยงไม่เสี่ยงดีกว่า 38.08% แบ่งเป็นชาย 28.09% หญิง 46.15% พรหมจรรย์สำคัญยิ่งชีพ 10.63% แบ่งเป็นชาย 6.19% หญิง 14.23% และจำเป็นมาก จะได้รู้ว่าเข้ากันได้หรือไม่ 7.23% แบ่งเป็นชาย 11.42% หญิง 3.84%

ปัจจัยที่มีผลต่อการไม่แต่งงาน พบว่า พ่อแม่ไม่อนุญาต ชาย 42.5% หญิง 50.33% ชีวิตคู่ของคนใกล้ตัวล้มเหลว ชาย 41.16% หญิง 51.83% ฝังใจกับรักครั้งก่อน ชาย 48.66% หญิง 54.16% ไม่พบคนถูกใจ ชาย 71.66% หญิง 79% รักอิสระ/ไม่อยากมีพันธะ ชาย 69% หญิง 73.5% พึ่งตนเองได้ ชาย 67.16% หญิง 44.16% ไม่อยากมีบุตร ชาย 46.33% หญิง 42.33% กลัวการเอารัดเอาเปรียบ ชาย 51.83% หญิง 62% และกลัวการมีเพศสัมพันธ์ ชาย 28% หญิง 53.33%

ในรายงานยังได้เปรียบเทียบการแต่งงาน โดยในแง่บวกเปรียบเหมือนน้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า, ส่วนเติมเต็ม, การปลูกดูแลต้นไม้, สีชมพู, การแสดงความรัก, การซื้อใจ, เพื่อนคู่คิด, รูปหัวใจ และดอกไม้ ในทางลบเปรียบเหมือนการผูกคอตาย, เข้าคุก, บ่วง, ตกนรกทั้งเป็น, แมลงเม่าบินเข้ากองไฟ, การปอกลอก, สีดำ, เข้าสนามรบ, อยู่บนสวรรค์แต่ก็พลาดตกลงมา, ข้อผูกมัด และการหาเรื่องใส่ตัว

จากข้อมูลข้างต้นวิเคราะห์ผลได้ดังนี้ นักศึกษาส่วนใหญ่ยังมีทัศนคติที่ดีต่อการแต่งงานค่อนข้างมาก เพราะเปอร์เซ็นต์สูงสุดที่ต้องการแต่งงานมีถึง 66.59% และจากข้อมูลดังกล่าวพบว่าหญิงไทยมีแนวโน้มอยู่เป็นโสดมากขึ้นถึง 35% โดยคิดว่าเรื่องการแต่งงานไม่ใช่สิ่งสำคัญในชีวิต ส่วนรูปแบบชีวิตคู่ที่คนรุ่นใหม่ต้องการ พบว่าคนรุ่นใหม่ยังนิยมความมั่นคงทางการสมรสค่อนข้างมาก สังเกตจากความต้องการจดทะเบียนสมรส 68.72% และไม่ต้องการจัดงานแต่ง 46.17% ส่วนการมีลูกนั้น คนส่วนใหญ่ถึง 85.53% ยังต้องการมีลูกเพื่อให้ครอบครัวสมบูรณ์ แก้เหงา ไว้เลี้ยงตอนพ่อแม่แก่

ส่วนความเห็นเกี่ยวกับผู้หญิงสามารถเลือกใช้นามสกุลได้หลังสมรส พบว่า มีผู้เห็นด้วยมากทั้งชายและหญิง โดยมีคนให้ความเห็นว่าไม่แปลก ผู้หญิงควรมีสิทธิเลือกนามสกุลของคนที่ให้กำเนิดและดูแลเขา บางคนมองว่าคนรักกันอยู่ด้วยกันด้วยความเข้าใจ ไม่ใช่นามสกุล ที่สำคัญเป็นสิทธิสตรี ความเท่าเทียม ความเสมอภาคระหว่างชายกับหญิงในสังคมไทยมากขึ้น แต่สิ่งที่ผู้หญิงมองว่าสำคัญกว่าเรื่องนามสกุล คือคำที่ใช้นำหน้า เพราะเมื่อเกิดหย่าขึ้นมาก็ยังต้องใช้ "นาง" เหมือนเดิม

สำหรับความคิดเรื่องการหย่าร้างนั้น คนรุ่นใหม่มองเป็นเรื่องธรรมดา 62.55% คือไม่ยึดติด หรืออดทนเพื่อรูปแบบชีวิตคู่ที่สมบูรณ์แบบเหมือนในอดีต แต่สิ่งที่พลิกความหมายคือผู้ชายไม่ยอมให้เกิดการหย่ามากกว่าหญิง ทั้งยังพบคนรุ่นใหม่มีแนวคิดว่าการหย่าร้างไม่ใช่สิ่งเลวร้ายอีกต่อไป

รายงานเชิงวิจัยยังระบุถึงความคิดเห็นเกี่ยวกับการอยู่ด้วยกัน หรือมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน พบว่า ไม่ใช่เรื่องแปลกถึง 43.61% แสดงว่าคนไทยรุ่นใหม่รับการอยู่ด้วยกันหรือมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงานได้ แต่ก็ไม่ถึงกับเห็นว่าเป็นสิ่งจำเป็นมาก แสดงว่าค่านิยมในสังคมไทยเปลี่ยนไปจากรูปแบบเดิมที่สอนว่าอย่าชิงสุกก่อนห่าม หรือต้องรักนวลสงวนตัว

นอกจากนี้คณะผู้จัดทำยังได้สัมภาษณ์ความเห็นของกลุ่มตัวอย่าง เช่น น.ส.ออย(นามสมมุติ) อายุ 21 ปี นักศึกษาคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเธอบอกว่าไม่เชื่อในเรื่องการแต่งงาน เพราะไม่ใช่การแสดงออกถึงความรักอย่างแท้จริง แต่กลับสร้างความยุ่งยากให้ชีวิตมากขึ้น แต่ก็เชื่อในความรัก อยากได้ใครมาเติมเต็ม แต่ก็คิดว่าคนเรามีรักได้หลายครั้ง เมื่อรักได้ก็เลิกรักได้เช่นกัน เมื่อมองว่าการแต่งงานคือการสร้างพันธะให้ตนเอง ฉะนั้น อยากใช้ชีวิตคู่โดยไม่แต่งงาน แต่เมื่ออยู่ในสังคมไทยที่ยังไม่เปิดกว้าง และมีคนที่ต้องแคร์อย่างพ่อแม่ จึงต้องจดทะเบียนสมรส ส่วนการจัดงานคงไม่จัดเพราะสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ ส่วนการมีเพศสัมพันธ์ หรืออยู่ด้วยกันก่อนแต่งงานนั้นมองได้ 2 แง่ คือในแง่ความรัก และต้องเรียนรู้กันให้รอบด้านก่อน โดยไม่คิดว่าเสียเปรียบ หรือได้เปรียบ สำหรับการหย่าร้างถือเป็นเรื่องธรรมดา ไม่จำเป็นต้องอดทนเพื่อทะเบียนสมรส

น.ส.เยียร์(นามสมมุติ) อายุ 21 ปี นักศึกษาปี 3 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เห็นว่ารูปแบบการมีชีวิตคู่นั้นต้องการจัดงานแต่งงาน แต่ไม่อยากจดทะเบียนสมรส เพราะกลัวมีปัญหาภายหลัง สำหรับการอยู่ด้วยกันหรือมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน เป็นเรื่องธรรมดามาก เพราะได้ข้อมูลว่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยเป็นผู้หญิงที่เสียตัวแล้ว 100% จึงคิดว่าเรื่องเพศสัมพันธ์เป็นเรื่องธรรมดา เปิดเผยได้โดยไม่เห็นเป็นเรื่องแปลกหรือน่าอาย

น.ส.โอ๊ด(นามสมมุติ) อายุ 20 ปี เรียนอยู่ปริญญาตรีมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง มองว่ามีชีวิตคู่ไม่จำเป็นต้องจัดงาน เพราะการแต่งงานไม่ใช่ตัวการันตีความมั่นคงของชีวิตคู่ อย่างบางคนจัดงานเลี้ยงหรูหราใหญ่โต ไม่นานก็ต้องมีอันเลิกรากันไป ฉะนั้น ยิ่งจัดงานเลี้ยงใหญ่โตก็ยิ่งอายสังคมมากขึ้น

น.ส.เอื้องผึ้ง(นามสมมุติ) อายุ 24 ปี นักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง เห็นว่าการแต่งงานต้องมีพิธี ส่วนจะใหญ่หรือเล็กไม่สำคัญ แต่แต่งงานเพื่อให้พิธี และแขกเหรื่อเป็นพยานรักในการร่วมชีวิต ส่วนทะเบียนสมรสจะจดหรือไม่ก็ได้ สำหรับการอยู่กันก่อนแต่งก็เป็นเรื่องธรรมดา

น.ส.ชมพู พันธุ์ทิพย์(นามสมมุติ) อายุ 20 ปี นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง เห็นว่าถ้าจะแต่งงานต้องจดทะเบียนสมรสเพราะเป็นสิ่งที่แสดงความสัมพันธ์ได้ดีที่สุด ส่วนพิธีแต่งงานจะมีหรือไม่ก็ได้ ทั้งนี้ การอยู่ด้วยกันก่อนแต่งเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะ จะมีผลเสียมากโดยเฉพาะฝ่ายหญิง ยิ่งถ้าไม่ได้แต่งงานกับคนนี้ก็ยิ่งแย่ ฉะนั้น การจะศึกษากันไม่จำเป็นต้องอยู่ด้วยกัน ส่วนการหย่าร้างนั้น จะยอมทนจนถึงที่สุดก็จะหย่า และแต่งงานใหม่ได้อีก ส่วนการหย่าต้องไม่รุนแรงเพื่อถนอมน้ำใจกัน


ยังไม่มีคำวิจารณ์ สำหรับ บทความนี้

คนตั้ง  : 
อีเมล์ :
คำวิจารณ์  : 
ยืนยัน
   
วันที่ตั้งกระทู้  : 
25-04-2024


เวป หางาน ค้นหางาน ตำแหน่งงาน พนักงาน ejobonline.com