บทความ เรื่อง : ทักษิณอ่อนรับ 3 ข้อ 144 อจ.แก้ปัญหาใต้
   


บทความเลขที่ 196
คนสร้างบทความ :
a
วันที่ตั้งบทความ :
2004-11-16
คะแนนบทความ :
990(เฉพาะเดือนนี้ )
จำนวนคนอ่าน :
2741(เฉพาะเดือนนี้ )
   


ทักษิณอ่อนรับ 3 ข้อ 144 อจ.แก้ปัญหาใต้

------------------------------------------------------------------------------------------------
เหตุการณ์รุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังเป็นแผลเรื้อรัง ที่บ่อนทำลายทั้งอำนาจรัฐ และความปลอดภัย ในชีวิตตลอดจนทรัพย์สิน ของประชาชนผู้บริสุทธิ์ ต้องมาตกเป็นเหยื่อสังเวย ของกลุ่มหัวรุนแรงที่ต้องการ แบ่งแยกดินแดน เกิดเหตุระเบิดอย่างต่อเนื่องใน จ.ยะลา จนมีผู้เสียชีวิตหลายราย และบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ไม่เว้นแม้กระทั่งเด็กน้อยวัยเพียง 7 เดือน ที่ต้องมาพลอยถูกลูกหลงไปด้วย ล่าสุด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เชิญตัวแทนนักวิชาการ และอาจารย์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ จำนวน 144 คน มาพบที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นรวมทั้งแนวทาง การแก้ไขปัญหาในภาคใต้ให้สงบสุขโดยเร็ว

นายกฯจับเข่าคุย 22 นักวิชาการ

เมื่อเวลา 15.15 น. วันที่ 14 พ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อาทิ พล.อ.สัมพันธ์ บุญญานันต์ รมว.กลาโหม นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รมว.คลัง นางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รมว.สาธารณสุข น.พ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช รมว.พลังงาน นายโภคิน พลกุล รมว.มหาดไทย นายสุธรรม แสงประทุม รมช.มหาดไทย นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รมว. ต่างประเทศ นายยงยุทธ ติยะไพรัช เลขาธิการนายก รัฐมนตรี นายจักรภพ เพ็ญแข โฆษกประจำสำนักนายก รัฐมนตรี ได้ร่วมหารือกับกลุ่มนักวิชาการที่ออกมาเคลื่อนไหว ให้นายกรัฐมนตรีขอโทษต่อการเสียชีวิต ของประชาชนจากการสลายม็อบที่ สภ.อ.ตากใบ จ.นราธิวาส

ซึ่งมีนักวิชาการเดินทางมาร่วมหารือ เพียง 22 คน จากทั้งหมด 144 คน ทาง พ.ต.ท.ทักษิณจึงขอย้ายห้องประชุมใหญ่ ตึกสันติไมตรีหลังนอก ไปใช้ห้องประชุมสีฟ้าภายในตึกสันติไมตรีหลังใน ซึ่งเป็นห้องเล็กกว่า ทั้งนี้เนื่องจากเจ้าหน้าที่ทำเนียบรัฐบาลได้จัดเตรียมที่นั่งในห้องประชุมใหญ่ไว้กว่า 300 ที่ เมื่อนักวิชาการมา 22 คน จึงทำให้ห้องโล่งอย่างเห็นได้ชัด โดย พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวสัพยอกว่า ห้องมันใหญ่ไม่อบอุ่น ไปคุยที่ห้องสีฟ้าดีกว่าจะได้ใกล้ชิดกันมากๆ

ขนม็อบแห่อัด "นายกฯ"

ขณะเดียวกัน บริเวณถนนริมรั้วทำเนียบรัฐบาล ตรงข้ามสำนักงาน ก.พ. ได้มีกลุ่มพันธมิตรองค์กรเพื่อประชาธิปไตย นำโดยนายใจ อึ๊งภากรณ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะ ประธานกลุ่มประชาธิปไตยแรงงาน พร้อมตัวแทนเครือข่ายสันติภาพทางเลือก เครือข่ายเดือนตุลาคม แนวร่วมศิลปิน เพื่อประชาธิปไตย ศูนย์ประสานงานกรรมการ สหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ ผู้แทนองค์กรอิสระ นิสิตนักศึกษา และเครือข่ายกว่า 10 แห่ง รวมตัวกันถือป้ายผ้าที่มีข้อความว่า ยกเลิกกฎอัยการศึก และใบปลิวระบุใบหน้า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยเครื่องหมายกากบาททับบรรยายข้อความว่า หยุดสงคราม หยุดทักษิณ หยุดฆ่าประชาชน เพื่อร่วมประกาศหยุดยั้งความรุนแรงและอาชญากรรมรัฐ

โดยนายใจกล่าวว่า วันนี้มาร่วมให้กำลังใจนักวิชาการที่เดินทาง มาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นประเด็นที่มีความสำคัญ เนื่องจาก พ.ต.ท.ทักษิณได้ก่ออาชญากรรมรัฐ ที่ส่งผลให้ผู้ที่ทำการประท้วงด้วยสันติวิธีถูกฆ่าตายจำนวนมาก และนายกรัฐมนตรีต้องออกมารับผิดชอบ

ถกยาว 2 ชม. "ทักษิณ" รูดซิปปาก

สำหรับการหารือระหว่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กับกลุ่ม 22 นักวิชาการ ได้สิ้นสุดลงเมื่อเวลา 17.20 น. โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อจ.คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นคนแถลงข่าวแก่ผู้สื่อข่าว ส่วน พ.ต.ท. ทักษิณ ภายหลังการหารือได้ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ ผู้สื่อข่าว โดยกล่าวเพียงสั้นๆว่าบรรยากาศการหารือ เป็นไปด้วยดี ตนเสียงไม่มี เจ็บคอ เสียงหมดแล้ว พร้อมทั้งเดินทางกลับทันที

หารือร่วมนายกฯได้แค่ "บีบวก"

จากนั้น นายโภคิน พลกุล รมว.มหาดไทย พร้อมด้วยนายสุริชัย หวันแก้ว ในฐานะหัวหน้าคณะนักวิชาการ นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายบรรเจิด สิงคะเนติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ร่วมกันแถลงข่าวถึงผลการหารือครั้งสำคัญ โดยนาย สุริชัยกล่าวว่า รู้สึกยินดีและขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่ได้เปิดโอกาสให้มาร่วมหารือกัน ซึ่งข้อเสนอต่อรัฐบาลได้เน้นหนักเรื่องแก้ไขความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีการขยายตัวมากขึ้น นายกรัฐมนตรีได้รับฟัง และเห็นว่ามีหลายเรื่องที่ต้องติดตามต่อไป โดยใช้สันติวิธีและเคารพ วัฒนธรรมตลอดจนเรื่องศาสนาที่แตกต่างกัน

ทั้งนี้ การติดตามการดำเนินการภายหลังการประชุมก็ต้องมีการปรึกษากันอีกครั้งหนึ่ง รัฐบาลต้องมีกลไกกับ การมีส่วนร่วมของประชาชน อย่างไรก็ตาม ที่มีการตั้ง ข้อสังเกตว่าการมาพบนายกฯครั้งนี้เพื่อต้องการสร้างภาพในกับรัฐบาลนั้น ตนไม่สนใจ สังคมต้องช่วยกันแก้ และท่าทีของนายกฯก็ถือว่าดี รับฟังปัญหา ไม่ปกป้องตัวเอง ตนให้เกรดการหารือครั้งนี้เป็นบีบวก

ยังไม่ขอโทษ-ใช้การเมืองนำทหาร

ด้านนายบรรเจิดกล่าวว่า กลุ่มนักวิชาการได้ยื่นข้อเสนอแนวทาง ในการแก้ไขปัญหา ความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวม 3 ประเด็นคือ

1. การเยียวยา ปัญหาที่กลุ่มนักวิชาการเรียกร้องให้นายกฯกล่าวคำขอโทษต่อครอบครัว ของผู้เสียชีวิตจากกรณีม็อบตากใบ และ ประชาชน ซึ่งนายกฯเพียงแค่รับข้อเสนอว่าจะนำไป พิจารณาว่าจะขอโทษหรือไม่ พร้อมทั้งระบุว่า การกล่าวคำขอโทษไม่ใช่สิ่งสำคัญของรัฐบาล ส่วนข้อเรียกร้องให้รัฐแสดงความรับผิดชอบด้วยการดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำให้ มีผู้เสียชีวิตนั้น นายกฯขอให้รอผลการสอบสวนของคณะกรรมการอิสระ ที่มีนายพิเชต สุนทรพิพิธ เป็นประธานก่อน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และความเสมอภาคใน การปฏิบัติหน้าที่

2. ในการแก้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขอให้ใช้แนวทางสันติวิธีใช้การ เมืองนำหน้า การทหาร ทางนายกฯยินยอมที่จะดำเนินการ ตามข้อเสนอดังกล่าวโดยระบุว่า หลังจากนี้จะยกเลิกการใช้กำลังทหารเข้าไปสลาย การชุมนุมทุกกรณี แต่จะให้ เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ได้รับการฝึกฝนในด้านการสลายการ ชุมนุม เป็นผู้รับผิดชอบ ส่วนในประเด็นการตั้งกองทุนทดแทนและฟื้นฟู สภาพจิตใจให้กับครอบครัวของผู้เสียชีวิตนั้น ยังมีครอบครัวของผู้เสียชีวิตบางรายที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ ซึ่งนายกฯก็รับปากว่าจะให้ผู้ว่าราชการจังหวัดไปตรวจสอบ

เสนอตั้ง กก.สมานฉันท์แห่งชาติ

นายบรรเจิดกล่าวต่อไปว่า สำหรับข้อ 3 ทางกลุ่มนักวิชาการได้เสนอให้มีการจัดตั้ง คณะกรรมการสมานฉันท์ แห่งชาติ ที่ประกอบด้วยตัวแทนจากทุกส่วนมาทำหน้าที่ศึกษาระดม ความคิดเห็นเพื่อให้เกิดนโยบายทางเลือก ในการแก้ปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยได้เสนอแนวคิดในการแก้ปัญหาของนายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรี และ น.พ.ประเวศ วะสี เป็นหนึ่งในแนวทางการแก้ปัญหา ซึ่งในประเด็นนี้ นายกฯได้ยอมรับที่จะไปดำเนินการโดยได้มอบหมายให้นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เป็นผู้ประสานงานกับกลุ่มนักวิชาการ เพื่อกำหนดกรอบแนวทางที่เหมาะสมในการแก้ปัญหาร่วมกัน

ทั้งนี้ สำหรับข้อเรียกร้องที่ต้องการให้นำนโยบายของคณะกรรมการสมานฉันท์ แห่งชาติ มาเป็นแนวทางหลักในการแก้ไขปัญหาทั้งหมดนั้น นายกฯได้เน้นย้ำว่าหากเป็นแนวทางที่เหมาะสมตามรัฐธรรมนูญ รัฐบาลก็พร้อมที่จะนำมาปฏิบัติ

เตือนมือที่สามอย่าแทรกแซง

นายโภคิน พลกุล รมว.มหาดไทย กล่าวถึงกรณีที่ขบวนการยุวชนมุสลิม ของพรรคองค์การสามัคคีมาเลเซีย (อาร์บิม) ได้ระดมเงินบริจาคเพื่อช่วยเหลือ ครอบครัวผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ สลายม็อบหน้า สภ.อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เป็นเงิน 1 หมื่นริงกิตต่อครอบครัว ว่า คงต้องตรวจสอบข้อเท็จจริง ก่อนแต่ถ้าเป็นเรื่องจริงก็คงไปรับไม่ได้ เพราะคงไม่เหมาะสม หากจะมายุ่งเกี่ยวกับเรื่อง ภายในประเทศของเรา ไม่อยากไปแทรกแซงใคร และก็ไม่อยากให้ใครมายุ่งกับปัญหาภายในของเรา รัฐบาลดูแลประชาชน มากกว่าสิ่งที่เขาจะมาสนับสนุนเราด้วยซ้ำ

ดังนั้น เงินเพียง 1 หมื่นริงกิตมันทำอะไรไม่ได้มาก ผู้สื่อข่าวถามว่า มีข่าวว่าญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ที่มัสยิดกรือเซะ จ.ปัตตานี ยังไม่ได้รับเงินช่วยเหลือ นายโภคินกล่าวว่า ได้สั่งการให้ผู้ว่าฯ ไปตรวจสอบบัญชีผู้เสียชีวิตแล้ว แต่ความจริงผู้เสียชีวิตเป็นผู้ก่อเหตุรุนแรง ไปฆ่าเจ้าหน้าที่ ฆ่าผู้บริสุทธิ์ แต่คนที่ถูกฆ่า บาดเจ็บทุกวัน ทำไมสื่อไม่ติดตามว่าได้รับเงินช่วยเหลือหรือไม่ จึงอยากฝากให้สื่อไปดูด้วย

"บัญญัติ" ติงนายกฯต้องใจกว้าง

เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 14 พ.ย. ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงเรื่องที่มีนักวิชาการเข้าหารือกับนายกฯเพียง 20 กว่าคนว่า คงเป็นเพราะไม่มั่นใจว่านายกฯจะรับฟัง ความเห็นอย่างจริงใจ พร้อมที่จะทบทวน ที่สำคัญคือได้ยินโฆษกรัฐบาลและเลขาธิการนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ออกตัวว่า มีข้อจำกัดที่นายกฯไม่สามารถปฏิบัติตามข้อเรียกร้องได้ ซึ่งถ้ารับฟังอย่างขอไปที แต่ เดินตามแนวทางเดิมก็น่าเป็นห่วง

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้นายกฯคงพอจะรู้แล้วว่า สถานการณ์รุนแรงขึ้นและนโยบายที่ผ่านมาผิดพลาด อยากจะฝากถึงนายกฯ ว่าให้เปิดใจกว้างรับฟังความเห็นที่แตกต่าง มุ่งประโยชน์ บ้านเมือง ไม่คิดเรื่องการแพ้ชนะ ต้องยอมรับความจริงว่า ประเมินสถานการณ์ และนโยบายผิดพลาด ต้องปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ พระราชทาน คือนุ่มนวลและมีส่วนร่วม ที่สำคัญคือ อย่าผลักดันให้คนสุจริตเป็นแนวร่วมของพวกก่อการร้าย อย่าให้คนสุจริตกลัวอำนาจรัฐหรือเจ้าหน้าที่ ของรัฐแล้วถอยห่างออกไป

"เอนก" อัดซ้ำต้องเปลี่ยนนายกฯ

ด้านนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ หัวหน้าพรรคมหาชน กล่าวถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรี เชิญตัวแทนนักวิชาการเข้าพบ ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า คงช่วยแก้ปัญหาอะไรไม่ได้ เพราะเรื่องนี้เป็นปัญหา ที่วิสัยทัศน์และปรัชญาของนายกฯ ที่นิยมการใช้เงินและอำนาจในการแก้ปัญหา แต่หากนักวิชาการจะให้นายกฯเปลี่ยนวิธีการแก้ปัญหาก็เท่ากับว่าไม่ใช่ตัวตน ที่แท้จริงของนายกฯ หากนายกฯทำได้อย่างที่นักวิชาการร้องขอ ก็คงแก้ปัญหาได้นานแล้ว อย่างกรณีความไม่สงบที่ อ.ตากใบ ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ทางแก้ปัญหาที่แท้จริงต้องเปลี่ยนตัวนายกฯและรัฐบาลเท่านั้นจึงจะแก้ปัญหาได้

"เจิมศักดิ์" ไม่สนคนใต้ประท้วง

ด้านนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ส.ว.กทม. กล่าวถึงเรื่องที่มีชาวบ้านใน จ.นราธิวาส ขึ้นป้ายผ้าโจมตี ส.ว.และกลุ่มนักสิทธิมนุษยชน ที่ออกมาให้ความเห็นสถานการณ์ ในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ว่า ไม่ได้คิดอะไรกับการโจมตีดังกล่าว และไม่อยากแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ เพราะยิ่งพูดเหตุการณ์จะยิ่งลุกลาม กลัวพวกขวาตกขอบจะใช้เป็นเงื่อนไขปลุกกระแส รักชาติขึ้นมาอีก ตนไม่อยากเห็นพี่น้องไทยต้องมาฆ่ากันเอง

ขณะนี้รู้สึกไม่สบายใจที่เริ่มจะมีการปลุกกระแสรักชาติของพวกขวาตกขอบขึ้นมาแล้ว จึงไม่อยากให้สังคมไทยมีความรู้สึกแบ่งเขาแบ่งเรา ซึ่งจะกลายเป็นความแตกแยกทางสังคม ถือว่าอันตรายมาก มันจะย้อนกลับไปเหมือนยุคก่อน ยืนยันว่า ทุกอย่างได้ทำไปด้วยความบริสุทธิ์ใจ

อดีต มทภ.4 หวั่นไฟใต้ขยายวง

ในส่วนของ พล.อ.กิตติ รัตนฉายา อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 บอกถึงแนวทาง ในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า รัฐบาลจะต้องดึงภาคประชาชน โดยเฉพาะชาวมุสลิมเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา เพราะสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นสงครามแย่งชิงประชาชน สังเกตได้จากการพัฒนา ฝีมือของกลุ่มก่อความไม่สงบในการก่อเหตุ อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของขบวนก่อการร้าย ซึ่งเขาต้องการดำเนินการ เพื่อนำไปสู่การแบ่งแยกรัฐปัตตานี หากไม่ยอมรับตรงจุดนี้ก็แก้ไม่ได้

เหตุการณ์ก็ดำเนินการไปเรื่อยตามยุทธศาสตร์ที่กลุ่มก่อการร้ายตั้งไว้ โดยจะมีการบ่อนทำลายต่างๆนานา เพื่อต้องการให้รัฐบาลขาดความเชื่อถือ กลุ่มก่อการร้ายประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ส่วนนำ ส่วนกองกำลัง และส่วนแนวร่วม ซึ่งรัฐบาลจะต้องต่อสู้กับ 3 ส่วนให้ได้ ด้วยงาน 3 งาน คือ งานการทหาร งานการพัฒนาเศรษฐกิจ-สังคม และงานทางด้านสันติวิธี "เราต้องตั้งโจทย์ให้ถูกถึงจะแก้ไขปัญหาได้ ทั้งนี้ เหตุการณ์จะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ผมเป็นห่วงหากสถานการณ์ ออกไปนอก 3 จังหวัดชายแดน จะทำให้มีการคุมยาก" พล.อ.กิตติกล่าว



ยังไม่มีคำวิจารณ์ สำหรับ บทความนี้

คนตั้ง  : 
อีเมล์ :
คำวิจารณ์  : 
ยืนยัน
   
วันที่ตั้งกระทู้  : 
28-03-2024


เวป หางาน ค้นหางาน ตำแหน่งงาน พนักงาน ejobonline.com