บทความ เรื่อง : เอดส์...เดียวดายในชะตากรรม
   


บทความเลขที่ 553
คนสร้างบทความ :
นายแมน
วันที่ตั้งบทความ :
2005-12-01
คะแนนบทความ :
1227(เฉพาะเดือนนี้ )
จำนวนคนอ่าน :
4145(เฉพาะเดือนนี้ )
   


เอดส์...เดียวดายในชะตากรรม

------------------------------------------------------------------------------------------------
 ผิวแผ่วท่วงทำนองหม่นเศร้า โหยไห้อาลัยจากปลายนิ้วเหี่ยวย่นเนิบนาบ ทว่ายังแม่นยำ บนขลุ่ยลำน้อย เพื่อนร่วมชีวิตวัยชรานั่งเคียงข้าง พลางเหม่อมองนอกเรือนราวรอการกลับมาของใครบางคนที่มิอาจหวนคืน ชายหนุ่มในภาพถ่ายขาวดำบนฝาขัดแตะเบื้องหลังราวจะทอดถอนใจในชะตากรรมเดียวดายของบุพการีทั้งสอง ด้วยวันนี้เขามิอาจอยู่แสดงความกตัญญูกตเวทีได้อีกต่อไป หลังพ่ายแพ้แก่มหันตภัยเอดส์เมื่อกว่าสิบปีก่อน...
       

       ในโชคชะตาโดดเดี่ยวของผู้สูงอายุที่ได้รับผลกระทบจากเอดส์ ใช่ว่าการจากไปของลูกรักจะสลายหัวใจพ่อแม่ในห้วงคืนวันแรกๆ เท่านั้น ทว่ายังฝากรอยแผลร้าวลึกทรมานแม้เวลาจะล่วงเลยนานนับทศวรรษ และแม้อายุที่มากขึ้นจะเคียงคู่มากับอาการหลงๆ ลืมๆ กระนั้นเบื้องลึกในจิตใจคงไม่มีผู้สูงอายุคนไหนเลือนลืมลูกของตน ยิ่งเมื่อต้องเผชิญคืนวันทุกข์ยากจากเอดส์มาด้วยกัน ยิ่งยากจะเลือนลบ
       
       *ร้าวลึกยากลบเลือน
       
       จริงทีเดียว ที่กาลเวลามิอาจเลือนลบเรื่องราวรวดร้าวสะเทือนใจ ยิ่งเหตุการณ์นั้นยึดโยงด้วย 'สายใยรักในครอบครัว' ยิ่งยากใหญ่ ดังรื้นน้ำตาจากแม่อุ๊ (นามสมมติ) หญิงชราวัยกว่า 60 จาก อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ที่หลั่งไหลขณะย้อน 3 การพลัดพรากจากลูกๆ ด้วยมฤตยูเอดส์ ที่แม้เวลาจะล่วงเลยทศวรรษแล้ว ทว่าสำหรับนางราวเพิ่งผ่านผันไม่กี่วัน
       
       "ทุกวันนี้เสียใจมาก ยังคิดถึงลูกๆ 3 คนเสมอ แรกๆ ทำใจไม่ได้เลย ยิ่งช่วงหลายเดือนที่ต้องดูแลรักษาลูกทั้ง 2 คนที่ป่วยระยะสุดท้ายพร้อมกัน ร่างกายจิตใจยิ่งแย่มาก เพราะมีแค่แม่และลูกสาวอีกคนช่วยดูแล ซึ่งตอนนั้นตัวเขาเองก็ไม่รู้ว่าป่วยเป็นเอดส์ด้วยเหมือนกันเพราะยังไม่มีอาการ ก็อยู่ช่วยดูแลพี่ๆ ทั้ง 2 คน จนกระทั่งทั้งคู่ตายจากไป ต่อมาตัวเขาก็ป่วย ก็เหลือแค่แม่คนเดียวที่อยู่ดูแลเขาจนกระทั่งตายจากไปอีกคน..."
       
       ภาพลูก 2 คนครวญคราง โอดโอยทรมาน ชักพร้อมๆกัน ยังฝังแน่นในใจแม่อุ๊ ทุกครายามประหวัดคิดถึงลูกๆ หรือมีใครถามสาเหตุการจากไปก่อนวัยอันควร แววตาจะแดงก่ำ บางคราน้ำตารินไหลไม่รู้ตัว
       
       "บ่อยมากที่ลูก 2 คนร้องเจ็บปวดพร้อมๆกันตรงหน้า แม่ก็ต้องรีบเข้าไปประคองกอดลูก ลูบเนื้อลูบตัว หวังจะให้เขาดีขึ้นบ้าง หลายคนถามไม่กลัวจะติดเอดส์จากลูกเหรอ บอกเลยไม่กลัว เขาเป็นลูกเรา และก็ไม่ได้มีแผลอะไร แค่ผอมและดำลงมาก"
       
       ภารกิจแม่อุ๊ยังไม่ยุติ แม้จะเคยแบกรับภาระหนักดูแลลูก 3 คนจากทั้งหมด 6 คนยามผจญมฤตยูร้ายไปแล้วก็ตาม ด้วยวันนี้นางต้องสวมบทบาทผู้ปกครองคนเดียวของหลานวัยรุ่น 3 คน ซึ่ง 2 คนเกิดจากพ่อแม่ที่เสียชีวิตด้วยเอดส์ ที่บางคราก็คุยกันไม่เข้าใจ เมื่อช่องว่างระหว่างวัยถูกถ่างให้กว้างกว่าเดิมด้วยทุนนิยม
       
       "หลายครั้งพวกเขาอยากได้ของใช้ใหม่ๆ ตามเพื่อน แม่ก็ไม่มีให้ จะแบกหน้าไปกู้ยืมเขาก็ไม่ค่อยได้เพราะแก่แล้ว เขากลัวจะไม่ได้คืน... ก็ไม่รู้ทำไง พวกเขาก็ต้องอด แต่ก็ยังดีที่เกือบทุกครั้งพอคุยกันเข้าใจ" แม่อุ๊เผยความร้าวลึกยากลบเลือน พลางรำพึงว่าถ้าพ่อแม่พวกเขายังอยู่กันก็คงไม่อด ไม่ลำบากขนาดนี้
       
       ยืนหยัดรับ 3 ภาระหนัก
       
       70% ของผู้ติดเชื้อเอดส์ในไทยอยู่ในความดูแลของพ่อแม่หรือญาติสูงอายุก่อนจะเสียชีวิต ซึ่งภาระหนักอึ้งของผู้สูงอายุที่ได้รับผลกระทบจากเอดส์กว่า 240,000 คน (2544-2547) และจะทวีสูงขึ้นถึง 550,000 คนในปี 2553 นั้น ส่วนมากมิได้ยุติแค่การจากไปของลูกด้วยเอดส์ระยะสุดท้าย ทว่ายังต่อเนื่องถึงการเยียวยารักษาดูแลหลานทั้งติด-ไม่ติดเชื้อ ด้วยส่วนใหญ่พ่อแม่พวกเขาจะตายทั้งคู่ ทิ้งหลานอยู่กับปู่ย่าตายายเพียงลำพัง ยิ่งในรายยากจนด้วยแล้วยิ่งแย่ เพราะนอกจากคนต่างวัยจะต้อง
       เผชิญแรงกดดันมหาศาลจากสังคมร่วมกันแล้ว ยังผจญความแร้นแค้นทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตย่ำแย่ด้วยกันอีกด้วย
       
       ดังช่วงชีวิตบั้นปลายของแม่อุ๊ที่ไม่ต่างจากวงเวียนชีวิตของพ่อแอ๊ด (นามสมมติ) วัยกว่า 70 จากกิ่ง อ.นาออน จ.เชียงใหม่ ด้วยสะท้อนความรวดร้าวยากแค้นคล้ายคลึงกัน เพราะหลังจากเพียรพยายามเยียวยาลูกสาวหัวเรี่ยวหัวแรงของครอบครัวที่จากไปด้วยโรคเอดส์ที่ติดจากสามีนานกว่าเดือน ทว่าสุดท้ายก็จำจากไปทิ้งหลานติดเชื้อเอดส์วัย 9 ขวบเป็นภาระหนักอึ้งไว้ให้ ยังมิพักจะเอ่ยถึงการดูแลตัวเองและคู่ชีวิตในวันวัยที่สังขารไม่เอื้อต่อการทำมาหากินอีกแล้ว
       
       "ทุกวันนี้ลำบากมาก ทำงานไม่ไหวแล้ว เหลือยายคนเดียวออกไปรับจ้างแกะถั่วบ้าง เกี่ยวข้าวบ้าง ได้วันละไม่กี่สิบบาท สงสารยาย ทั้งๆ ที่ตาข้างหนึ่งก็มองแทบไม่เห็น แต่จะให้ทำไงเพราะไม่มีเงินเลย ไหนจะกินกัน 3 คนตายายหลานแล้ว ยังต้องหาเงินให้เขาไปกินโรงเรียนด้วย เหนื่อยยังไงก็ต้องฝืนทำเพราะอยากให้เขาได้เรียน มีเงินกินขนมที่โรงเรียนไม่อายเพื่อน ถ้าลูกสาวยังอยู่ อย่างน้อยเขาก็จุนเจือเราและเลี้ยงลูกตัวเองได้" ตาฝ้าฟางของพ่อแอ๊ดสะท้อนอนาคตอันตีบตันของหลานชาย
       
       แม้พ่อแอ๊ดวันนี้แทบจะไม่เหลือเรี่ยวแรงแล้ว แต่เวลาทุกนาทียังมีค่าทั้งสำหรับคู่ชีวิตและหลานชาย แกยังพยายามเก็บฟืนขายชาวบ้านมัดละ 2 บาทเพื่อหาเงินมาจุนเจือครอบครัวยามมีแรงบ้าง กระนั้น ภารกิจแท้จริงที่แม้กำลังกายจะร่อยหรอยังไงก็ต้องทำให้สำเร็จทุกคราคือการไปเอายาต้านไวรัสมาให้หลานชายคนเดียว และเตือนให้เขากินตรงเวลา เพราะด้วยเป็นเด็กบางคราก็เล่นเพลิน ห่วงสนุกจนลืมเวลา
       
       "ตาจะคอยดูเวลาตลอด ถึงเวลาเมื่อไรต้องรีบให้เขากิน บางครั้งยังไม่ถึงเวลาจะกินยาแต่รถโรงเรียนมาแล้ว ก็ต้องรอ แล้วค่อยไปส่งเขา เพราะโรงเรียนอยู่คนละหมู่บ้านกัน แต่บางครั้งเขาไม่อยากกิน ห่วงเล่น ตาก็จะบอกเขาว่าถ้าไม่กินยาจะไม่มีชีวิตอยู่ จะไม่ได้อยู่กับตากับยายอีก เขาก็เชื่อ"
       
       และแม้จะอาทรอนาคตหลานชายอย่างไร แต่ด้วยอายุขัยของไม้ใกล้ฝั่งที่คู่ขนานมากับการพลัดพราก บ่อยคราน้ำตาก็ไหลรินยามคิดถึงวันข้างหน้า เพราะนอกจากจะย้อนคิดถึงคืนวันเก่าๆ ยามครบครอบครัวแล้ว ยังรู้ดีว่าวันนั้นแม้แกจะตายจากไปก็ไม่ต้องวิตกกังวลกับอนาคตของหลาน เพราะยังมีแม่เขาคอยดูแล แต่แล้วทุกอย่างก็พังราบพนาสูรเมื่อมัจจุราชเอดส์พรากลูกสาวแกไป
       
       "วันนี้หวังเพียงว่าถ้าตายายตาย น้าที่เป็นพยาบาลซึ่งกำลังจะแต่งงานจะรับไปเลี้ยง ไม่ดื้อ เลี้ยงง่ายหรอก ...แต่ก็ยังไม่เคยคุยเรื่องนี้กันเลย ไม่รู้เขาจะเอาหรือเปล่า" พ่อแอ๊ดเผยความปรารถนาสุดท้ายขณะใช้สองมือลูบหัวหลานชายอย่างรักใคร่ ...และแม้มือคู่นั้นจะเหี่ยวย่น ทว่ายังคงมอบอุ่นไอในใจของหลานตัวน้อยได้เสมอ
       ดังสะท้อนผ่านคำพูดลึกซึ้งใสซื่อของเด็กที่รู้ว่าตัวเองติดเชื้อเอดส์ว่า "รักตากับยายมาก โตขึ้นอยากจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ จะหาเงินมาเลี้ยงดูตากับยายเอง" พร้อมเล่าว่าแม้ตาจะดุ แต่ไม่กลัว รู้ว่าตารัก คอยเตือนให้กินยา หยิบยาให้กิน และพูดบ่อยๆ ว่าถ้าไม่กินยาจะไม่ได้อยู่กับตายายอีก
       
       เนิ่นนานทีเดียวกว่าผู้สูงอายุที่ได้รับผลกระทบจากเอดส์อย่างแม่อุ๊และพ่อแอ๊ดจะยืนหยัดพาครอบครัวเว้าแหว่งสมาชิกทว่าสมบูรณ์พร้อมในรักห่วงใยรอดพ้นเงื้อมเงาเอดส์มาได้ ด้วยถ้าปราศจากสายใยรักนิรันดร์นี้ไม่เพียง 2 ครอบครัวข้างต้นจะล่มสลายเท่านั้น ทว่ายังจะพรากคืนวันสดใสในโรงเรียนของเด็ก 3 ขวบที่ไม่ติดเชื้อเอดส์หลานชายแม่อี๊ด (นามสมมติ) วัยกว่า 70 จากอ.เมือง จ.เชียงใหม่มลายหายไปด้วย หลังจากถูกปฏิเสธเข้าเรียนถึง 2 แห่ง
       
       "โรงเรียนแรกไม่ให้เรียนเพราะรู้ว่าแม่เขาเป็นเอดส์ตาย ยายก็ไปหาโรงเรียนใหม่ แต่ไม่ได้อีกเพราะเขารู้เหมือนกัน ซ้ำคนไม่ให้หลานยายเรียนก็เป็นญาติกัน ยายก็ต้องหอบหลานไปสมัครเรียนหมู่บ้านอื่นที่ไม่รู้ ถึงเหนื่อย แต่ก็ดีใจที่วันนี้หลานได้เรียนแล้ว" แม่อี๊ดเผยความขื่นขมไม่กี่เดือนที่ผ่านมา พร้อมฉายภาพครอบครัวสุดรันทดด้วยว่า แม่เขาตายตั้งแต่ยังเด็ก ยายกับตาก็ช่วยกันเลี้ยงเขาและพี่ชายเขาอีกคน เหนื่อยแต่ก็พอไหว ทว่าทุกอย่างก็แย่ลงเมื่อตาล้มเจ็บเป็นอัมพาต รายได้หายวับ เหลือแค่ของยายที่ได้วันละ 120 บาทจากการรับจ้างขัดเครื่องเขิน
       
       "เหนื่อยแค่ไหนก็ต้องทำ วันไหนไม่ทำก็ไม่มีเงินเข้าบ้านเลย แต่บางทีก็ไม่ไหว ปวดไปหมด ก็ต้องหยุด สมัยที่แม่เขายังอยู่ ครอบครัวยายไม่ได้ลำบากขนาดนี้ ค่าใช้จ่ายในบ้านเขาออกทั้งหมด ยายก็ไม่ต้องทำงานหลังขดหลังแข็ง แต่วันนี้เหนื่อยยังไงก็ต้องสู้ ต้องทำเพื่อเด็กๆ"
       
       สองมือยับย่นของแม่อี๊ดเคลื่อนไหวขึ้นลงสม่ำเสมอ ฝุ่นละเอียดแดงเปื้อนเปรอะมือ แขนขา เสื้อผ้า แทรกเข้าไปจับเนื้อตัวตามรอยขาด วิ่นแหว่ง ตีนผมขาวโพลนบัดนี้แต้มเติมด้วยเม็ดเหงื่อผสานฝุ่นผงสีแดงจากการขัดเครื่องเขินต่อเนื่องตั้งแต่ตะวันสาดแสงยันแสงลำสุดท้ายของวันฉานฉาบใบหน้า "ไม่มีใครช่วยหรอก ทุกคนก็ต้องทำมาหากินกันทั้งนั้น ถึงเขาอยากช่วยแต่ก็ไม่มี" หญิงชราที่ยังไม่ละมือจากงานหนักตรงหน้าเล่า พลางถอนใจเมื่อบอกว่าเพิ่งไปเสียค่าเทอมให้หลานชายคนเล็กมา ยังติดโรงเรียนอยู่อีก 900 บาท
       
       ในความเหนื่อยล้าทางกาย แววตาฝ้าฟางกลับทอประกายแจ่มใสยามพูดถึงหลานน้อยๆ 2 คนที่อยู่ในความรับผิดชอบดูแล แม้วันนี้จะต้องหาเงินใช้หนี้ค่าเทอมหลานตัวน้อยที่เพิ่งเข้าอนุบาลก็ตาม และแม้ไม่รู้ว่าจะหาเงินได้จากไหน อย่างไร แต่แม่อี๊ดก็สัญญากับตัวเองแล้วว่าจะไม่ท้อถอย ยังตายไม่ได้ จะต้องอยู่เป็นเสาหลักครอบครัวให้นานที่สุด
       
       ...ขณะที่สังคมเมือง หรือสังคมกึ่งเมืองกึ่งชนบทพรากความเอื้ออาทร มิตรไมตรีจากเพื่อนบ้านตามความเจริญที่รุกล้ำกล้ำกราย ทอดทิ้งซอกหลืบมืดมิดเดียวดายของผู้สูงอายุที่ได้รับผลกระทบจากเอดส์อย่างแม่อี๊ดและแม่อุ๊ไว้ ทั้งๆ เพียงปรายสายตามองก็พานพบโศกนาฏกรรมนี้ได้ แต่ในชุมชนชนบท อ.ดอยสะเก็ด เสียงขลุ่ยจากพ่ออ๊อด (นามสมมติ) ยังคงบรรเลงท่วงทำนองหม่นเศร้าถึงเพื่อนบ้านผู้อารีได้บ้าง
       
       "วันนี้ตากับยายทำงานไม่ไหวแล้ว ก็ได้เพื่อนบ้านแถวนี้แหละคอยช่วยหาข้าวหาปลาให้กิน เกรงใจเขานะแต่ไม่รู้จะทำยังไง ตาก็ฝืนถีบ เข็นรถจักรยานคันที่เคยให้ลูกชายนั่งซ้อนท้ายไปหาหมอที่อนามัย ไปเก็บใบตองตึงมาทำหลังคาขาย ยายก็แกะกระเทียมที่ชาวบ้านแถวนี้มาจ้างบ้าง ได้ 10-20 บาทก็ยังดี" พ่ออ๊อดวัย 70 บอกเล่าชะตากรรมตัวเองและเพื่อนร่วมชีวิต
       
       *ตราบาปที่ไม่ได้สร้าง
       

       เกือบทุกครา ทุกคนจึงเลือกปกปิด ปฏิเสธว่าตัวเองไม่ได้เป็นผู้สูงอายุที่ได้รับผลกระทบจากเอดส์ มิพักจะเอ่ยถึงผู้สูงอายุวัยเกิน 50 ที่ติดเชื้อกว่า 50,000 คน (5.4% ของผู้ติดเชื้อ) ตัวเลขแท้จริงน่าจะมากกว่านั้นมาก ก็ไม่กล้าเปิดเผย ด้วยกลัวถูกรังเกียจและเลือกปฏิบัติ แม้การกระทำเช่นนั้นจะนำไปสู่จุดอับทางความช่วยเหลือ เข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสารการป้องกัน รักษา และหลักปฏิบัติยามใกล้ชิดผู้ป่วยก็ตาม ขณะที่น้อยรายกล้าเผยตัวเพื่ออนาคตของบุคคลอันเป็นที่รักยิ่งกว่าชีวิต
       
       "ไม่อายหรอก มันติดแล้วจะให้ทำยังไง ไม่มีใครอยากเป็นหรอก ก็ต้องดูแลกันไปจนตายจากกันนั่นแหละ วันนี้ถ้าไม่เปิดตัวออกมาเขา (หลานชายติดเชื้อเอดส์) ก็ไม่ได้ยา ทุกวันตาจะคอยเตือนให้เขากินยาตลอด แต่ก็ยังไม่เข้าใจว่าโรคเอดส์ที่จริงมันคืออะไร รู้เพียงเป็นแล้วตาย" พ่อแอ๊ดถ่ายทอดความเข้าใจเรื่องโรคเอดส์ที่ไม่มากไปกว่าแม่อุ๊ที่แม้จะสูญเสียลูก 3 จากทั้งหมด 6 คนให้กับมฤตยูร้าย ทว่าความเข้าใจก็ยังจำกัด คลาดเคลื่อนอยู่มาก โดยเฉพาะความเข้าใจเรื่อง CD 4 ยาต้านไวรัส และวิธีการป้องกันโรคฉวยโอกาสต่างๆ
       
       "รู้ว่าเอดส์เป็นแล้วตาย ติดกันผ่านทางนอนด้วยกันและเลือด หมออธิบายหลายอย่าง แต่ก็จำไม่ค่อยได้ แก่แล้ว จำได้เวลาสัมผัสผู้ป่วยเอดส์ให้ใส่ถุงมือจะได้ไม่ติด" แม่อุ๊อธิบายข้อจำกัดในการจดจำ ต่างจากสายตารังเกียจจากสังคมรอบข้างยามจ้องมองที่แม้ปรารถนาจะลืมเลือนกลับยิ่งจดจำตราตรึง
       
       "อะไรก็ไม่แย่เท่าสายตาแปลกๆ รังเกียจของคนในชุมชน เวลาไปข้างนอกแต่ละทีก็จะเจอกับสายตาเหล่านี้เสมอ ยายก็ไม่ว่าอะไร ทนได้ แต่ที่สะเทือนใจจนเกือบทนไม่ได้คือสายตา ท่าทีรังเกียจกลัวเวลามองลูกสาวยาย สงสารเขามาก อยากให้โรคร้ายนี้เกิดกับตัวเองมากกว่า บางครั้งเขาจะฆ่าตัวตาย ยายก็ร้องขอเขา..." แม่อุ๊สะท้อนความร้าวลึก
       
       อย่างไรก็ตาม การรวมกลุ่มผู้สูงอายุที่ได้รับผลกระทบจากเอดส์ที่เริ่มเข้มข้นขึ้นในปัจจุบัน ครั้งละ 30-40 คนภายในชุมชน หมู่บ้าน โดยการผลักดันของเอ็นจีโอที่ตระหนักในศักยภาพของผู้สูงอายุกลุ่มนี้ว่าเป็นทั้งผู้ดูแลและผู้ถ่ายทอดความรู้เรื่องโรคเอดส์ที่ถูกต้องนั้น นอกจากจะก่อเกิดเวทีพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรู้สำหรับผู้สูงอายุหัวอกเดียวกันแล้ว ยังเป็นสถานพักฟื้นจิตใจสำหรับผู้ที่ยังรับสภาพถูกกระทำจากสังคมรอบข้างไม่ได้ด้วย
       
       "การรวมกลุ่มผู้สูงอายุที่ได้รับผลกระทบจากเอดส์ช่วยในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การเข้าถึงยาต้าน และการช่วยเหลือด้านกฎหมายได้มาก เพราะจากต่างคนต่างอาย ต่างไม่กล้าเผยปัญหา ความต้องการของตัวเอง แต่เมื่อรวมกลุ่มก็มีอำนาจต่อรอง กล้าที่จะขอข้อมูลข่าวสาร เข้าถึงบริการต่างๆ มากขึ้น นอกจากนั้นหน่วยงานต่างๆ ก็ยังหันกลับมาตระหนัก รับรู้ความมีตัวตนของพวกเขามากขึ้น หลังจากที่ปัจจุบันนี้ผู้สูงอายุทั้งติดเชื้อและได้รับผลกระทบจากเอดส์ขาดหายสิทธิตรงนี้มาก" อุษา เขียวรอด ผู้จัดการโครงการองค์การช่วยเหลือผู้สูงอายุระหว่างประเทศภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิกเผย ก่อนจะเน้นว่าความท้าทายสูงสุดในปัจจุบันคือจะทำอย่างไรให้หน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะภาครัฐหันกลับมาตระหนักรับรู้ถึงศักยภาพของผู้สูงอายุ 2 กลุ่มนี้ และคลอดนโยบายชัดเจน สอดคล้องกับความรุนแรงของปัญหาออกมา หรือน้อยที่สุดควรมีที่ทางเฉพาะในแผนเอดส์ชาติที่จะถึงนี้
       
       * * * * * * * * * * * *
       
       พันธสัญญาที่ไม่ทั่วถึง-เท่าเทียม
       
       คราไทยเป็นเจ้าภาพประชุมเอดส์โลกครั้งที่ 15 เมื่อกรกฎาคม 2547 ที่ผ่านมาด้วยคำขวัญอันเร้าใจ ‘ทั่วถึงและเท่าเทียม’ หรือ Access for all นั้น ผู้นำในภาคส่วนต่างๆ ได้ให้คำมั่นสัญญาในการแก้ไขปัญหาเอดส์ไว้มากมาย รวมถึงนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรที่ประกาศก้องว่าจะให้ผู้ติดเชื้อทุกคนได้รับยาต้านไวรัสอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ทว่าวันเวลาผ่านผันปีกับไม่กี่เดือน พันธสัญญาของผู้นำที่วางไว้ไม่ได้รับการสานต่อ ซ้ำยังถูกละเลย ลดทอน จนเปลี่ยนแปรเป็นสุญญากาศแห่งพันธสัญญา
       
       รศ.ดร.ลินจง โปธิบาล ผอ.โครงการเอชไอวี/เอดส์ และผู้สูงอายุในเขตภาคเหนือ เผยว่าประเด็นผู้สูงอายุที่ได้รับผลกระทบจากเอดส์ หรือติดเชื้อต่างยังไม่ได้รับการตระหนักรับรู้จากสังคม ซึ่งถ้าทอดเวลายาวนานออกไป ปรากฏการณ์นี้จะขยายตัวจนยากแก้ไข ด้วยปัจจุบันยังขาดมาตรการ แนวทางชัดเจนทั้งในระดับนโยบายและปฏิบัติการในการรับมือปัญหาเหล่านี้
       
       "วันนี้ภาครัฐ เอ็นจีโอมุ่งที่เด็ก เยาวชน ละเลยผู้สูงอายุทั้งที่ติดเชื้อและได้รับผลกระทบ ทั้งๆ ที่คน 2 กลุ่มนี้สัมพันธ์กันมาก เพราะการช่วยเหลือเด็กโดยไม่แยแสชะตากรรมปู่ย่าตายายเท่ากับไม่แยแสเสาหลักที่จะคอยปกป้องเยียวยาเด็กๆ เหล่านั้น" รศ.ดร.ลินจงมองพร้อมเผยว่าปัจจุบันแม้ผู้สูงอายุติดเชื้อจะยังไม่มากนัก ทว่าเวลาผ่านไปจะเพิ่มขึ้นมาก จากศูนย์ข้อมูลระบาดวิทยา สำนักระบาดวิทยาพบว่า กลุ่มวัยทำงานอายุ 20-39 ปีติดเชื้อมากสุด ในจำนวนนี้มากกว่า 1 ใน 4 อายุ 30-34 ปี เพราะฉะนั้นถ้ากลุ่มนี้ได้รับยาต้านไวรัส อายุจะยืนขึ้น การเร่งส่งเสริมความรู้ หลักปฏิบัติจึงจำเป็นยิ่งเพราะจะช่วยพวกเขายามแก่เฒ่าได้มาก
       

       ทำนองเดียวกับจันทร์เพ็ญ เชษฐธง เจ้าหน้าที่บริหารงานสาธารณสุข 6 กิ่งอ.แม่ออน ซึ่งอยู่ในพื้นที่มานานกว่าสองทศวรรษที่มองว่า จากเดิมที่โรคเอดส์เป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของคนในหมู่บ้านเมื่อช่วงปี 45-47 นั้น ปัจจุบันมีแนวโน้มลดลงแต่ผู้หญิงจะเป็นเอดส์มากขึ้นจากการที่สามีหนีเที่ยว และจะกลายเป็นกลุ่มผู้สูงอายุติดเชื้อในไม่กี่ปีข้างหน้า ด้วยพวกเขาจะเข้าถึงยาต้านและมีชีวิตยืนยาวขึ้น
       
       "บางหมู่บ้าน 10 ปีที่ผ่านมามีคนตายจากเอดส์แล้วกว่า 10 คน แรกๆ ชาวบ้านก็กลัว รังเกียจผู้ป่วยเอดส์ ผู้สูงอายุที่ได้รับผลกระทบ แต่ปัจจุบันไม่ค่อยมีแล้ว เนื่องจากมองไปทางไหนบ้านนั้นก็เป็น บ้านนี้ก็ได้รับผลกระทบ" จันทร์เพ็ญเผย พร้อมชี้ว่าแนวโน้มนี้จะต้องจับตาใกล้ชิดเพราะอาจทำให้ชาวบ้านไม่กลัวเอดส์ เห็นเป็นโรคธรรมดาๆ จนการแพร่ระบาดกลับมาหนักอีก อีกทั้งสังคมยังเข้าใจผิดมหันต์ว่าผู้สูงอายุไม่ได้เป็นกลุ่มเสี่ยงเพราะไม่มีเพศสัมพันธ์แล้ว ซึ่งไม่จริง และที่สำคัญการหันมาช่วยผู้สูงอายุก็เสมือนช่วยเด็กไปพร้อมๆ กัน เพราะการโดดเดี่ยวพวกเขาให้เวียนวนกับชะตากรรมเดียวดายแร้นแค้นก็เท่ากับไม่แยแสอนาคตของชาตินั่นเอง
       
       * * * * * * * * * * * *
       

       เรื่อง-ภาพ / ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ


ยังไม่มีคำวิจารณ์ สำหรับ บทความนี้

คนตั้ง  : 
อีเมล์ :
คำวิจารณ์  : 
ยืนยัน
   
วันที่ตั้งกระทู้  : 
26-04-2024


เวป หางาน ค้นหางาน ตำแหน่งงาน พนักงาน ejobonline.com