บทความ เรื่อง : “ทักษิณ”ยุบสภา-กกต.สนองทันควันเลือกใหม่ 2 เมษายน 49
   


บทความเลขที่ 588
คนสร้างบทความ :
a
วันที่ตั้งบทความ :
2006-02-25
คะแนนบทความ :
1079(เฉพาะเดือนนี้ )
จำนวนคนอ่าน :
2991(เฉพาะเดือนนี้ )
   


“ทักษิณ”ยุบสภา-กกต.สนองทันควันเลือกใหม่ 2 เมษายน 49

------------------------------------------------------------------------------------------------
“ทักษิณ” เลือกยุบสภา เลือกตั้งใหม่ หลังเจอวิกฤตการเมืองกดดัน โดยจะแถลงอย่างเป็นทางการในสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ คืนนี้ เวลา 20.30 น.ขณะที่ทำการพรรคไทยรักไทย บรรดาแกนนำพรรคต่างมาประชุมกันด้วยสีหน้าเคร่งเครียด

วันนี้( 24 ก.พ.) มีรายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแพร่สะพัดตั้งแต่บ่ายว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้เลือกผ่าทางตันทางการเมืองโดยวิธีการยุบสภาแล้ว และ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้เข้าเฝ้าฯในเวลา 17.00 น. ที่ผ่านมา

รายงานข่าวยังระบุอีกว่า การเข้าเฝ้าฯดังกล่าวเป็นการเข้าเฝ้าฯเพื่อขอรับพระราชทานพระราชกฤษฎีกายุบสภารวมทั้งพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ เพื่อทำหน้าที่เป็นรัฐบาลรักษาการในช่วงเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดพ.ต.ท.ทักษิณเปิดเผยภายหลังกลับจากการเข้าเฝ้าฯ ว่า ได้ตัดสินใจยุบสภาแล้ว ส่วนที่ทำเนียบรัฐบาล นายบวรรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ให้รอดูข่าวในเวลา 20.30 น. วันนี้ โดยการตัดสินใจทางการเมืองครั้งนี้ไม่มีการปรับครม.แต่อย่างใด

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศที่ทำการพรรคไทยรักไทย ว่า บรรดาแกนนำพรรคไทยรักไทยทยอยเดินทางมาถึงแล้ว อาทิ พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา นายสมศักดิ์ เทพสุทิน นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ นางเยาวภา วงศสวัสดิ์ นายเนวิน ชิดชอบ นายสนธยา คุณปลื้ม พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ ซึ่งคาดว่าจะมีการเริ่มประชุมแล้ว

ทั้งนี้มีรายงานว่าพ.ต.ท.ทักษิณ จะเดินทางมาร่วมประชุมแกนนำพรรคไทยรักไทยด้วย

ด้าน นายเสนาะ เทียนทอง แกนนำกลุ่มวังน้ำเย็น ได้เรียกสมาชิกกลุ่มเข้าหารือที่บ้านพักเมืองทองธานีทันที

ขณะที่ นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รองหัวหน้าพรรคชาติไทย เปิดเผยว่า นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรค ได้นัดหมายแกนนำของพรรคเข้าหารือ เวลา 20.00 น.คืนนี้ และคาดว่าพรุ่งนี้จะมีการเรียกประชุมพรรค เพื่อประเมินสถานการณ์และเตรียมความพร้อมสำหรับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในอีก 60 วันข้างหน้า
สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ได้นัดประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคในวันพรุ่งนี้ (25 ก.พ.) เวลาประมาณ 10 .00 น.เป็นต้นไป

พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ประธานกองทัพธรรมมูลนิธิ กล่าวว่า เป็นที่คาดกันไว้แล้วว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะต้องยุบสภา ซึ่งไม่ใช่ทางออกที่ถูกต้อง เพราะปัญหาอยู่ที่ตัวนายกรัฐมนตรี ที่ขาดความชอบธรรม ทุกฝ่ายจึงออกมาเรียกร้องให้นายกฯยุบสภา อย่าลาออกหนีปัญหา อย่างไรก็ตามหากพรรคไทยรักไทยได้รับเสียงข้างมากในการเลือกตั้งครั้งใหม่ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็จะกลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ซึ่งก็คงไม่มีอะไรแตกต่างไปจากเดิม ปัญหาก็จะกลับมาอีก เพราะปัญหาทั้งหมดอยู่ที่ตัวนายกรัฐมนตรี

ขณะเดียวกันวันนี้(24 ก.พ.) พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ได้เรียกประชุม กกต.เมื่อเวลา 18.00 น.หลังจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภา โดยมีนายปริญญา นาคฉัตรีย์ นายวีระชัย แนวบุญเนียน ขาดเพียง พล.อ.จารุภัทร เรืองสุวรรณ ที่ติดภารกิจในต่างประเทศ ภายหลังหารือประมาณ 1 ชั่วโมง พล.ต.อ.วาสนา กล่าวว่า กกต.ได้หารือกับรัฐบาลเกี่ยวกับการจัดเลือกตั้ง โดยขอเวลาดำเนินการเรื่องบัตรและบุคลากร 30 วัน ดังนั้นจะจัดการเลือกตั้งทั่วไปได้ในวันที่ 2 เมษายน และเปิดรับสมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ วันที่ 27 และ 28 กุมภาพันธ์ ส่วน ส.ส.ระบบแบ่งเขต ในวันที่ 1-5 มีนาคม ทั้งนี้การจัดการเลือกตั้งในระยะเวลาเพียง 30 วัน เนื่องจากมีความจำเป็นต้องมีรัฐบาลดำเนินการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขณะที่การเลือกตั้ง ส.ว.ในวันที่ 19 เมษายน ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด

ล่าสุด นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้นำพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร มาแจกจ่ายให้กับสื่อมวลชน โดยพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2549 ให้ไว้ ณ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 เป็นปีที่ 61 ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ประกาศว่า โดยที่นายกรัฐมนตรีได้นำความกราบบังคมทูลว่าตามที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้นำความกราบบังคมทูลเมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2548 ขอให้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ตามมติเห็นชอบข้างมากเกินกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ลงคะแนนโดยเปิดเผยในสภาผู้แทนราษฎร และได้มีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีขึ้นบริหารราชการแผ่นดินแล้วนั้น ต่อมาได้เกิดการชุมนุมสาธารณะ ตั้งข้อเรียกร้องในทางการเมืองมากขึ้น ซึ่งแม้ระยะแรกจะอยู่ในกรอบของกฎหมาย แต่เมื่อนานวันเข้า การชุมนุมเรียกร้องได้ขยายตัวไปในทางที่กว้างขวาง และอาจรุนแรงขึ้น รวมทั้งส่อเค้าว่าจะมีการเผชิญหน้าจนอาจปะทะกับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย และอาจมีการสอดแทรกฉวยโอกาสจากผู้ที่ประสงค์จะเห็นความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมือง จุดชนวนให้เกิดความรู้สึกที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน จนลุกลามถึงขั้นการจลาจลวุ่นวาย สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้ ครั้นใช้อำนาจเจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมืองเข้าควบคุมดูแลอย่างเข้มงวด หรือแม้แต่รัฐบาลได้พยายามดำเนินการตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ ด้วยการขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติในที่ประชุมรัฐสภาแล้ว ก็ยังไม่อาจแก้ไขปัญหาและความคิดเห็นพื้นฐานที่แตกต่างกัน ทั้งระหว่างกลุ่มผุ้ชุมนุมเรียกร้อง กับรัฐบาล และระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้อง กับกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่เห็นด้วย และประสงค์จะเคลื่อนไหวบ้าง จนอาจเกิดการปะทะกันได้ สภาพเช่นนี้ย่อมไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ การเมือง การปกครอง ในระบอบประชาธิปไตยภายใต้ระบบรัฐสภา และความสงบเรียบร้อยของสังคม โดยเฉพาะในขณะนี้ซึ่งควรจะสร้างความสามัคคีปรองดอง การดูแลรักษาสภาพของบ้านเมืองที่สงบร่มเย็น น่าอยู่ อาศัยการลงทุน และการเผยแพร่ความวิจิตรอลังการ ตลอดจนความดีงามตามแบบฉบับของไทยให้เป็นที่ประจักษ์

เมื่อปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นความคิดเห็นในสังคมที่หลากหลาย และยังคงแตกต่างกัน จนกลายเป็นความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรงเช่นนี้ ครั้นจะดำเนินการเพื่อตรวจสอบความประสงค์อันแท้จริงของประชาชนโดยเป็นการอื่น เพื่อให้ทุกฝ่ายหยั่งทราบแล้วยอมรับให้เป็นไปตามกลไกในระบอบประชาธิปไตย ก็ทำได้ยาก ทางออกในระบอบประชาธิปไตยที่เคยปฏิบัติมาในนานาประเทศ และแม้แต่ในประเทศไทย คือการคืนอำนาจตัดสินใจทางการเมืองกลับสู่ประชาชน ด้วยการยุบสภาผู้แทนราษฎร เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วไปขึ้นใหม่ ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยต่อไป อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 116 และมาตรา 221 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้
มาตรา 1 พระราชกฤษฎีกานี้ เรียกว่า พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พุทธศักราช 2549
มาตรา 2 พระราชกฤษฎีกานี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
มาตรา 3 ให้ยุบสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่
มาตรา 4 ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นการเลือกตั้งทั่วไป ในวันที่ 2 เมษายน พุทธศักราช 2549 และ
มาตรา 5 ให้นายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการการเลือกตั้ง รักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี



ยังไม่มีคำวิจารณ์ สำหรับ บทความนี้

คนตั้ง  : 
อีเมล์ :
คำวิจารณ์  : 
ยืนยัน
   
วันที่ตั้งกระทู้  : 
20-04-2024


เวป หางาน ค้นหางาน ตำแหน่งงาน พนักงาน ejobonline.com