บทความ เรื่อง : มหา'ลัยแพทย์เตรียมถอน 30 บาท ชี้ภาระหนักใช้แพทย์ไม่คุ้มคุณภาพ
   

บทความเลขที่ 143
คนสร้างบทความ :
a
วันที่ตั้งบทความ :
2004-02-23
คะแนนบทความ :
1149(เฉพาะเดือนนี้ )
จำนวนคนอ่าน :
2781(เฉพาะเดือนนี้ )
   


มหา'ลัยแพทย์เตรียมถอน 30 บาท ชี้ภาระหนักใช้แพทย์ไม่คุ้มคุณภาพ

------------------------------------------------------------------------------------------------
มหา'ลัยแพทย์เตรียมถอน 30 บาท ชี้ภาระหนักใช้แพทย์ไม่คุ้มคุณภาพ

ข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ
กลุ่ม 12 โรงเรียนแพทย์ ถกปัญหา 30 บาทรักษาทุกโรค ต้องแบกภาระหนัก เตรียมถอนตัวรักษาผู้ป่วยทั่วไป ขอรับแค่คนไข้โรคร้ายตามความเชี่ยวชาญ ระบุค่าเหมาจ่ายรายหัว 1,600 บาท เหมาะสม ส่วนการยกเลิกรักษาผู้ป่วยประกันสังคม หลังเจรจาสำนักประกัน ได้ข้อยุติเบื้องต้นขอรักษาโรคร้ายเท่านั้น เพื่อให้แพทย์ได้ใช้เวลาในการเสริมทักษะความรู้เพื่อการเป็นฮับด้านสุขภาพในภูมิภาคนี้

มะเร็ง หัวใจ ความดัน ...สารพัดโรคร้ายที่ถ้าเกิดขึ้นกับคุณ! คุณจะให้ความไว้วางใจที่จะไปรักษาที่โรงพยาบาลไหน?

เชื่อได้ว่า ต้องมี ศิริราช รามาธิบดี จุฬาฯ และโรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์ต่าง ๆ เป็นอันดับต้น ๆ สาเหตุที่โรงพยาบาลเหล่านี้ได้รับความนิยมมาก ๆ เพราะเป็นสถาบันการศึกษา มีหมอระดับอาจารย์ และผู้เชี่ยวชาญแต่ละโรคที่ต้องบอกว่า เก่งจริง และรักษาคนไข้หายมานักต่อนัก ส่วนคนไข้ที่ไม่มีทางรักษาได้หายขาด หมอเหล่านี้ก็มีความสามารถยืดอายุคนไข้คนนั้นได้มีชีวิตอยู่ได้อีกระยะหนึ่ง บางรายก็มีอายุอยู่ได้นานกว่าที่คาด...

โดยประสบการณ์และประสิทธิภาพในการรักษาพยาบาล ของหมอในโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ที่มีมาหลายทศวรรษนี้เอง ทำให้บอกกันปากต่อปาก จนได้รับความนิยมสูงสุด

1 มค.48-ถอนประกันสังคม

การมุ่งไปรักษาที่โรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ของคนจำนวนมากโดยเฉพาะ ผู้ป่วยประกันสังคม และ 30 บาท รักษาทุกโรค ได้ทำให้โรงเรียนแพทย์เหล่านี้ประสบปัญหาต้นทุนทางการแพทย์อย่างหนัก โดยเฉพาะโรงเรียนแพทย์ 10 สถาบันที่เข้าร่วมประกันสังคมตั้งแต่ต้น ได้แก่ จุฬาลงกรณ์ รามาธิบดี วพศ.และวชิระพยาบาล ศิริราช ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ศรีนครินทร์ มหาราชนครเชียงใหม่ สงขลานครินทร์ พระมงกุฎเกล้า และ ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพฯ ส่วน สุรนารี และนเรศวร เนื่องจากเป็นสถาบันใหม่ จึงยังไม่มีการเปิดรับผู้ป่วยประกันสังคม

เมื่อบวกลบคูณหารแล้ว ค่าใช้จ่ายที่ได้รับมา จากประกันสังคมไม่เพียงพอต่อค่ารักษาพยาบาล ไม่มีเงินซื้อเครื่องมือทางการแพทย์ใหม่ ๆ อีกทั้งหมอผู้เชี่ยวชาญก็ต้องมารับภาระดูแลคนป่วยที่เป็นโรคทั่วไปอย่าง หวัด ท้องเสีย ฯลฯ ไม่มีเวลาดูแลโรคยาก ๆ อย่างเต็มที่ และไม่มีเวลาทำงานด้านวิชาการที่เป็นหน้าที่หลักของหมอผู้เชี่ยวชาญในโรงเรียนแพทย์ โดยเฉพาะการสอน และการทำงานวิจัยต่าง ๆ

อีกทั้งรัฐบาลมีนโยบายดันประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ ทำให้โรงพยาบาลรัฐโดยเฉพาะโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ต้องปรับตัวอย่างหนัก เพื่อเป็นเอกทางด้านวิชาการในภูมิภาคให้ได้ การที่ให้อาจารย์หมอผู้เชี่ยวชาญมารักษาโรคพื้นฐานอย่างไข้หวัด จึงเป็นการใช้ทรัพยากรบุคคลที่ไม่คุ้มค่า

ขณะที่กลุ่มโรงเรียนแพทย์ ได้มีการหารือร่วมกันหลายครั้งในรอบปีที่ผ่านมา จึงประกาศขอถอนตัวไม่รับขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนรายใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 48 ดังที่เป็นข่าวในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้เกิดความวุ่นวายอย่างหนัก เพราะผู้นำแรงงาน ได้ออกมาคัดค้าน และขู่ว่าเป็นการผิดมติ ครม.เพราะโรงเรียนแพทย์ทอดทิ้งประชาชน

ทำให้้สำนักงานประกันสังคม รีบหารือกับตัวแทนกลุ่มโรงเรียนแพทย์เพื่อยุติข่าว เมื่อวันพุธ ที่ 18 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา โดยมีตัวแทนของ ศิริราช รามาธิบดี และจุฬาฯ 3 โรงเรียนแพทย์ใหญ่มาร่วมหารือ

ประกันสังคมยาหอม-เพิ่มเงินโรคเรื้อรัง

ท้ายสุดแม้ว่ามติที่ประชุมจะออกมาในรูปแบบที่ว่า กลุ่มโรงเรียนแพทย์ยอมอ่อนข้อให้สำนักงานประกันสังคม สรุปเบื้องต้น 3 ประการ คือ

1.โรงพยาบาลทั้ง 12 แห่งจะยังไม่ถอนตัวจากประกันสังคมและจะร่วมมือกันจัดทำระบบข้อมูลการให้บริการทาง การแพทย์ที่ถูกต้อง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการจัดสรรงบประมาณ

2.ร่วมมือกันศึกษารูปแบบการรักษาพยาบาลขั้นสูง หรือ ตติยภูมิ (Teriary Care) เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการให้บริการผู้ประกันตน

3.จะปรับปรุงค่าชดเชยบริการทาง การแพทย์ให้กับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รวมทั้งปรับวิธีการคำนวณการจ่ายให้เหมาะสมยิ่งขึ้น ทั้งในโรงพยาบาลรัฐและเอกชน

โดยสำนักงานประกันสังคม และกลุ่มโรงเรียนแพทย์จะมีการตั้งคณะกรรมการร่วมกัน พิจารณา หาข้อสรุปให้แล้วเสร็จภายในเดือน ส.ค. 47

ยันขอรักษาแค่โรคร้าย-ลดภาระ

ผศ.นพ.สุธรรม ปิ่นเจริญ ผอ.โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ กล่าวเพิ่มว่า แม้มติที่ประชุมร่วมกับประกันสังคมจะออกมาเช่นนั้น แต่สำหรับกลุ่มโรงเรียนแพทย์แล้วยังต้องการขอดูแลผู้ป่วยที่เป็นโรคยาก ๆ ที่โรงพยาบาลอื่นรักษาไม่ได้แล้วเท่านั้น ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้เป็นการทอดทิ้งประชาชน เพราะถ้าพัฒนาระบบส่งต่อผู้ป่วยให้ดีขึ้น มาตรฐานการรักษาพยาบาลสำนักงานประกันสังคมก็ดูแลอย่างดีอยู่แล้ว ฉะนั้นผู้ป่วยก็จะได้รับการรักษาที่ดีเหมือนกัน

"ต้องหาทางให้ผู้ป่วยหนักที่อยู่ต่างจังหวัดเข้ามาสู่โรงพยาบาลใหญ่ ๆ ได้ง่ายกว่านี้ ยอมรับว่าปัจจุบันการส่งตัวผู้ป่วยลักษณะนี้ยากมาก ซึ่งตรงนี้ต้องแก้ระบบส่งต่อให้ดี"

โดยโรงเรียนแพทย์จะไม่ปฏิเสธผู้ป่วยทั่วไปเสียทีเดียว แต่จะคงรักษาผู้ป่วยที่อยู่ใกล้โรงพยาบาล และพนักงานหรือนักศึกษาแพทย์ของโรงพยาบาลต่อไป แต่สำหรับผู้ป่วยที่อยู่ไกลและเป็นแค่โรคทั่วไป ขอให้ไปที่โรงพยาบาลศูนย์ก่อน หากอาการหนักโรงพยาบาลศูนย์ดูแลไม่ไหวจึงค่อยส่งต่อมาโรงเรียนแพทย์

เตรียมถอน 30 บาทตามรอย

แหล่งข่าวในกลุ่มสถาบันโรงเรียนแพทย์ ระบุว่า นอกจากเรื่องประกันสังคมแล้ว กลุ่มแพทย์ยังมีการคุยเรื่องของ 30 บาทมาโดยตลอดอีกเรื่องหนึ่ง โดยจะใช้นโยบายเดียวกันคือขอรักษาเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นโรคร้ายแรง จะได้ทำได้อย่างเต็มที่ และลดภาระที่เป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ได้ระดับหนึ่งด้วย

ซึ่งปัญหา 30 บาทขณะนี้ มี 3 ประการหลัก คือ

1.ยังไม่ชัดเจนว่าบทบาทของโรงเรียนแพทย์ที่อยู่ในระบบ 30 บาทอยู่ตรงไหนแน่ ตั้งแต่เปิดใหม่แล้ว เพราะโรงเรียนแพทยรับมาแบบไม่ทันตั้งตัว ภาพรวมก็ไม่ชัด ทำให้โรงเรียนแพทย์ค่อนข้างสับสน ปัญหานี้ได้มีการคุยกับรัฐบาลแล้วว่ารัฐบาลต้องการให้บทบาทของโรงเรียนแพทย์คือดูแลโรคยาก ๆ ฉะนั้นโรงเรียนแพทย์ขอว่ากรณี 30 บาท สำหรับโรคทั่วไปขอให้ผู้ป่วยไปรักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้านแทน ถ้ารักษาไม่ได้ค่อยส่งมาโรงเรียนแพทย์

2.ปัญหาของระบบงบประมาณ การเงิน ยังคงเป็นปัญหาที่สร้างความหนักใจมาก เพราะรัฐบาลไม่อธิบายเรื่องของคุณภาพการบริการกับอัตราจ่ายให้ประชาชนเข้าใจว่าเมื่อรัฐบาลให้ต่อหัว 1,300 บาท ต้องได้รับแผนการรักษาอย่างนี้ แต่กลับบอกว่ารัฐบาลให้เงินโรงพยาบาลไปแล้ว ขอให้ไปรักษากันได้อย่างเต็มที่

ที่ผ่านมาจึงมีคนไข้แบบที่ว่าต้องการรักษาอย่างดีที่สุด ต้องการยาแบบแพง ๆ โดยเฉพาะคนที่มีสตางค์พอจะจ่ายได้ก็ไม่ยอมจ่ายเงิน แต่เรียกร้องจะเอายาแพง ๆ ทั้ง ๆ ที่รักษาหายเหมือนกัน ซึ่งตามค่าใช้จ่ายรายหัวที่รัฐบาลจ่ายให้นั้นปีหนึ่งแค่ 1,300 บาทถือว่าน้อยเกินไป ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การแพทย์เขาวิเคราะห์มาแล้วว่าต้องเพิ่มอีก 200-300 บาท หรือประมาณ 1,600 บาท จึงจะเหมาะสมแต่รัฐบาลก็บอกไม่มีเงิน

ตรงจุดนี้ส่วนของโรงพยาบาลก็พูดไม่ออก เพราะโรงพยาบาลมีคุณธรรมที่ต้องรักษาคนไข้อย่างดี แต่เมื่อเป็นอย่างนี้ ขวัญ กำลังใจแพทย์ก็หมดไป ทุกวันนี้มีแพทย์ลาออกจากระบบมากขึ้นทุกวัน

3.ปัญหาการเรียกเก็บเงินจากรัฐบาลไม่ได้ เมื่อค่ารักษาพยาบาลต่อหัวน้อยแล้ว รัฐบาลควรจะจ่ายเงินให้โรงพยาบาลเร็วกว่านี้ เพื่อนำไปหมุนซื้อยามารักษาคนไข้คนอื่น

อย่างไรก็ดีปัญหาที่โรงเรียนแพทย์ประสบอยู่นั้น หากรัฐบาลและผู้ป่วยร่วมมือกันแก้ไขจะส่งผลดีต่อระบบการรักษาพยาบาลได้เป็นอย่างดี



ยังไม่มีคำวิจารณ์ สำหรับ บทความนี้
คนตั้ง  : 
อีเมล์ :
คำวิจารณ์  : 
วันที่ตั้งกระทู้  : 
19-04-2024


เวป หางาน ค้นหางาน ตำแหน่งงาน พนักงาน ejobonline.com