บทความ เรื่อง : นร.แห่เข้าห้าง เล่นเกม ´วินนิ่ง´ พนันบอลจอตู้ เดิมพันเป็นหมื่น
   

บทความเลขที่ 512
คนสร้างบทความ :
a
วันที่ตั้งบทความ :
2005-11-03
คะแนนบทความ :
1323(เฉพาะเดือนนี้ )
จำนวนคนอ่าน :
3668(เฉพาะเดือนนี้ )
   


นร.แห่เข้าห้าง เล่นเกม ´วินนิ่ง´ พนันบอลจอตู้ เดิมพันเป็นหมื่น

------------------------------------------------------------------------------------------------
นร.แห่เข้าห้าง เล่นเกม ´วินนิ่ง´ พนันบอลจอตู้ เดิมพันเป็นหมื่น
แฉตู้เกมวินนิ่ง-แข่งฟุตบอลหยอดเหรียญเกลื่อนห้างดัง เด็กมั่วสุมทั้งชุดนักเรียน มีพนันติดปลายนวม แถมประกาศท้าดวลผ่านเวบไซต์กินเงินหมื่น กมธ.เด็กฯ ขอความร่วมมือห้าง หากไม่ได้ผลขู่ใช้ ก.ม.เล่นงาน ผกก.ศดส.ชี้หากปล่อยให้เด็กเล่นเวลาเรียน มีโทษจำคุก 3 เดือน พบ 4 ปีมีผู้ประกอบการตู้เกมหยอดเหรียญเพิ่มขึ้นถึง 8 เท่า

ปัญหาตู้เกมหยอดเหรียญที่เด็กสามารถเข้าถึงได้อย่างง่ายดาย ล่าสุดพบว่า เกม "วินนิ่ง" หรือเกมแข่งขันฟุตบอล จากเดิมที่ต้องเล่นกับเครื่องเล่นเพลย์ สเตชั่น 2 และจะมีจำกัดเฉพาะในร้านเกมอินเทอร์เน็ต ได้พัฒนามาเป็นตู้เกมหยอดเหรียญวางไว้ตามห้างสรรพสินค้าชื่อดังมากมาย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการออกสำรวจตามห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ในกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้าชื่อดังย่านลาดพร้าว ประตูน้ำ บางกะปิ ฯลฯ พบว่า แต่ละแห่งมีตู้เกมฟุตบอลหยอดเหรียญตั้งเรียงรายไว้ให้บริการลูกค้าแทบทุกแห่ง แต่ละแห่งจะมีตู้เกมลักษณะนี้ 6-8 ตู้ บางแห่งไม่มีพนักงานคอยเฝ้า หรือมีก็เพียงพนักงานแลกเหรียญ ซึ่งจะนั่งอยู่ตามโต๊ะ จากการเฝ้าสังเกตการณ์ตลอดทั้งวัน ตั้งแต่ห้างเปิดกระทั่งปิด พบว่าช่วงที่มีคนมาเล่นเกมมากที่สุดจะเป็นช่วงเวลา 15.00-19.00 น. ในจำนวนนี้มีนักเรียน นักศึกษามาเล่นทั้งๆ ที่อยู่ในเครื่องแบบ

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ตู้เกมวินนิ่งหยอดเหรียญเครื่องหนึ่งสามารถเล่นได้สองคน คนละ 10 บาทต่อการเล่น 1 เกม กินเวลา 20 นาที จากการสังเกตพบด้วยว่า เด็กบางกลุ่มเล่นพนันกันด้วย มีการพูดจาราคาต่อรองในแต่ละเกม ตั้งแต่ 50 บาทไปจนถึง 500 บาท ขณะเดียวกันยังมีนักเรียนบางกลุ่มทำโพยอัตราต่อรองการแข่งขันของแต่ละทีมที่แตกต่างกันไปแทบไม่ต่างจากการเล่นพนันฟุตบอลจริงๆ

นายวชิระ อายุ 15 ปี นักเรียนชั้น ม.3 โรงเรียนชื่อดังย่านบางกะปิ ยอมรับว่า หลังจากมีกฎหมายห้ามนักเรียนในเครื่องแบบเข้าไปเล่นเกมตามร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ ตนและเพื่อนๆ จึงหันมาใช้ตู้เกมวินนิ่งเป็นจุดนัดพบแทน เพราะไม่มีคนคอยคุม สามารถเล่นได้ตลอดเวลา การเล่นก็เหมือนกับตามร้านทั่วไป นอกจากจะเสียค่าเกม 20 บาทแล้ว ยังมีการเล่นพนันในกลุ่มครั้งละ 100-500 บาท แต่ถ้ามีคนนอกกลุ่มเข้ามาท้าแข่งกินเดิมพัน ก็จะเพิ่มวงเงินสูงครั้งละ 500-2,000 บาท หรือมากกว่านั้น

"เคยมีคนมาท้าแข่งกินเงินเดิมพันสูงถึง 1,500 บาท บังเอิญเป็นต้นอาทิตย์ ได้เงินค่าขนมจากแม่ เอามาเล่นหมด ผมแพ้เลยไม่มีเงินค่าขนมกินตลอดสัปดาห์ จึงต้องไปเล่นกินเงินกับเพื่อนหาค่าขนมและก็ได้คืนมาบ้าง การพนันอย่างนี้เป็นเรื่องธรรมดา ได้บ้างเสียบ้าง ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของทั้งสองฝ่าย และเป็นความชอบส่วนบุคคล" นายวชิระ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการสอบถามเด็กนักเรียนที่เล่นเกมวินนิ่งจากตู้เกมหยอดเหรียญ ส่วนใหญ่ยอมรับว่า มีการเล่นพนันติดปลายนวมด้วยทุกครั้ง เพิ่มความสนุกเร้าใจ นอกจากจะท้าแข่งกันเองในกลุ่ม หรือขณะพบปะกันตามตู้เกมหยอดเหรียญแล้ว ยังประกาศท้าแข่งกันตามเวบไซต์ต่างๆ โดยเฉพาะเวบไซต์เกมและเวบไซต์วัยรุ่นชื่อดังจำนวนมาก ตั้งวงเงินเดิมพันตั้งแต่หลักพันไปจนถึงหลักหมื่นบาท เช่น คนที่ใช้นามแฝงว่า "เด็กน้อย" อายุ 15 ปี อยู่ไกลถึง จ.อุบลราชธานี โพสต์ข้อความไว้ว่า ใครอยู่อุบลฯ สนใจเล่นเกมวินนิ่งกับผม โทรมาที่ 0-7250-xxxx หรือ "โคตรเซียน" จ.เพชรบูรณ์ ขอท้าดวลทั่วประเทศ ตระเวนมาหมดแล้ว พร้อมรับแลกเปลี่ยนสูตร เคยเล่นมาสเตอร์ชิงถ้วย 15 ดาวมาแล้ว เงินเดิมพันต้องไม่ต่ำกว่า 5 หลัก ต่อให้ 2 ลูก โทร 0-7213-xxxx ฯลฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า กระแสตู้เกมวินนิ่งหยอดเหรียญ ซึ่งเข้าถึงได้ทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย ทำให้การจัดทัวร์นาเม้นท์แข่งขันตามร้านเกมอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ลดน้อยลง ซึ่ง "คม ชัด ลึก" เคยนำเสนอมาแล้วก่อนหน้านี้ มีการตระเวนแข่งขันกันทุกคืนวันศุกร์-เสาร์ แบ่งสายแข่งหาคู่ชิงชนะเลิศ ชิงเงินรางวัลหลักหมื่น ไม่รวมเงินพนันที่จับคู่กันเองข้างนอกอีก อย่างไรก็ตาม ถึงแม้การแข่งลักษณะดังกล่าวจะลดน้อยลง แต่ยังคงมีการแข่งขันอยู่ประปราย ทั้งนี้ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจ กระทรวงพาณิชย์ พบว่า ในปี 2547 มีผู้ประกอบการเครื่องเล่นเกมที่จดทะเบียนและยื่นขอใบอนุญาต 2,562 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2543 ประมาณ 8 เท่า

นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) กิจการเด็ก เยาวชน สตรี และผู้สูงอายุ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า เบื้องต้นต้องขอความร่วมมือจากเจ้าของตู้และเจ้าของสถานที่ ให้ควบคุมดูแลไม่ให้เด็กในเครื่องแบบนักเรียนเข้าไปเล่นเกมในเวลาเรียน เพื่อรักษาภาพลักษณ์ของสถานที่ หากไม่ได้รับความร่วมมือคงต้องอาศัย พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ดำเนินการอย่างเด็ดขาด โดยคณะกรรมการคุ้มครองเด็กมีสิทธิออกเงื่อนไขมาดูแลได้อย่างเต็มที่

นายวีระศักดิ์ กล่าวต่อว่า อยากให้รัฐบาลนำตู้เกมและอินเทอร์เน็ตเข้าไปรวมอยู่ใน พ.ร.บ.ควบคุมเทปและวัสดุโทรทัศน์ด้วย จะได้ดูแลได้อย่างทั่วถึง หรือกำหนดไปเลยไม่ว่าอะไรก็ตามที่สามารถแสดงบนหน้าจอได้ ควรออกกฎกระทรวงมาควบคุม เนื่องจากปัจจุบันการขออนุญาตตั้งตู้เกม เพียงแค่ขออนุญาตตาม พ.ร.บ.การพนัน ก็สามารถนำไปตั้งไว้ที่ไหนก็ได้ ไม่มีการควบคุมผู้เล่น หรือเวลาเปิด-ปิด

ด้าน พ.ต.อ.สุรัศมิ์ อุดมรัตน์ ผู้กำกับการศูนย์สวัสดิภาพเด็ก เยาวชน และสตรี (ผกก.ศดส.) กล่าวว่า ตามกฎหมาย หากมีการตั้งตู้เกมแล้วปล่อยให้เด็กในเครื่องแบบเข้าไปเล่นในเวลาเรียน แถมปล่อยให้มีการพนันโดยไม่มีคนคอยดูแล ถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มาตรา 26 วงเล็บ 3 ข้อหายุยงส่งเสริมให้เด็กมีพฤติกรรมที่ไม่สมควร มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท หากตำรวจพบสามารถจับกุมพนักงานแลกเงินได้ทันที จากนั้นจะขยายผลจับกุมเจ้าของตู้เกมต่อไป

"การตั้งตู้เกมเพลย์ สเตชั่น 2 ต้องขอใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.วัสดุเทปและโทรทัศน์ เพราะเป็นเกมที่ต้องใช้แผ่น มีการควบคุมตามกฎหมาย หากไม่ขออนุญาตต้องจับปรับดำเนินคดี ในส่วนของการพนัน เจ้าของตู้ หรือเจ้าของร้านมักจะอ้างว่าไม่รู้เรื่อง เป็นการตกลงกันเองระหว่างผู้เล่น ทำให้การจับกุมทำได้ยาก เพราะไม่มีหลักฐานเอาผิดได้" พ.ต.อ.สุรัศมิ์ กล่าว


ยังไม่มีคำวิจารณ์ สำหรับ บทความนี้
คนตั้ง  : 
อีเมล์ :
คำวิจารณ์  : 
วันที่ตั้งกระทู้  : 
20-04-2024


เวป หางาน ค้นหางาน ตำแหน่งงาน พนักงาน ejobonline.com