บทความเลขที่
131 |
|
คนสร้างบทความ : |
นาย หิว |
วันที่ตั้งบทความ : |
2004-02-11 |
คะแนนบทความ : |
1509(เฉพาะเดือนนี้ ) |
จำนวนคนอ่าน : |
3718(เฉพาะเดือนนี้ ) |
นักวิทยาศาสตร์ไขปริศนา ภาวะ"ชายกลายหญิง" manager ดูเหมือนว่าข้อสังเกตของผู้หญิงหลาย ๆ คน จะไม่ใช่แค่ข้อสังเกตที่พูดมาจากความรู้สึก เพราะผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ มีหลักฐานสนับสนุนให้เห็นว่า ความเป็นชายของคนยุคนี้กำลังลดลงเรื่อย ๆ และภาวะ 'ชายกลายหญิง' ก็เริ่มปรากฏให้เห็นเป็นเรื่องสามัญ ไม่ว่าจะในมนุษย์หรือในสัตว์ เมื่อปี 1991 นักวิทยาศาสตร์ชาวเดนมาร์ก เสนอผลการศึกษาที่ทำให้วงการวิทยาศาสตร์ตื่นตะลึง และทำให้ผู้ชายหลายล้านคนทั่วโลก เริ่มขาดความมั่นใจกับศักยภาพการสืบพันธุ์ของตัวเอง ผลการศึกษาที่นีล สแคกเคเบกนำเสนอในการสัมมนาขององค์การอนามัยโลกชี้ว่า จำนวนสเปิร์มของผู้ชายชาวตะวันตกในยุคนี้ มีปริมาณน้อยกว่าที่เคยมีเมื่อ 50 ปีก่อนถึงครึ่งหนึ่ง แม้จะอธิบายไม่ได้ ว่าอะไรเป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงอันมีนัยยะสำคัญนี้ แต่ที่แน่ ๆ เรื่องนี้เป็นเพียงตัวอย่างเดียว ของหลักฐานหลาย ๆ อย่างที่ชี้ว่า ผู้ชายยุคใหม่กำลังมีความเป็นชายลดน้อยถอยลงเรื่อย ๆ นอกจากจำนวนสเปิร์มที่ลดลงแล้ว ความผิดปกติด้านระบบสืบพันธุ์ชายอื่นยังมีให้เห็นเพิ่มมากขึ้น จนวงการแพทย์ถึงกับตั้งชื่อให้เลยว่า "กลุ่มอาการอำนาจสืบพันธุ์เสื่อม" กลุ่มอาการนี้เป็นอาการผิดปกติต่าง ๆ ที่แสดงออกมาได้ในช่วงหนึ่งช่วงใดของพัฒนาการชีวิต มันอาจแสดงให้เห็นในตอนเกิด เป็นอาการอัณฑะค้างในช่องท้อง หรือองคชาตไม่เปิดตรงปลาย ส่วนอีกระยะจะปรากฏในช่วงวัยรุ่น อาทิ ภาวะจำนวนสเปิร์มต่ำ เป็นหมัน หรือเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก อาการอัณฑะค้างในช่องท้องนั้น เป็นความผิดปกติโดยกำเนิดที่พบมากในเด็ก คิดเป็น 2-4% ในเด็กชาย ตามมาด้วยอาการองคชาตไม่เปิดตรงปลาย ส่วนความผิดปกติตอนโตนั้น มีผู้ชายวัยหนุ่มถึง 20% ที่มีภาวะสเปิร์มต่ำ นอกจากนี้โรคมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในชายวัยหนุ่ม คือมะเร็งต่อมลูกหมาก ซึ่งหากไม่ใช่เพราะวิทยาการการรักษามะเร็งสมัยใหม่แล้ว โรคนี้อาจกลายเป็นโรคที่คร่าชีวิตผู้ชายอายุน้อยมากที่สุด รองจากอุบัติเหตุบนท้องถนน ดร.ริชาร์ด ชาร์ป ผู้เชี่ยวชาญด้านการเจริญพันธุ์เพศชาย ที่เมืองเอดิเบอระของอังกฤษเชื่อว่า อาการผิดปกติต่าง ๆ เกิดขึ้นตั้งแต่ระยะตั้งครรภ์ ช่วงการพัฒนาตัวอ่อน และปัจจัยที่น่าจะมีผลมากที่สุดคือเรื่องของฮอร์โมน ชาร์ปเชื่อว่า ความผิดปกติเกิดขึ้นเมื่อมีการแทรกแซงกระบวนการผลิต หรือการทำงานของฮอร์โมนเพศชาย อย่างแอนโดรเจนและเทสโตสเตอโรน ในช่วงที่ตัวอ่อนในครรภ์กำลังแยกเพศ แนวคิดของชาร์ปตรงกับที่นักสิ่งแวดล้อมเสนอไว้ ตั้งแต่ช่วงแรก ๆ ที่มีการพูดถึงจำนวนสเปิร์มที่ลดลง ทั้งนี้นักสิ่งแวดล้อมเชื่อว่า มีสารเคมีในสิ่งแวดล้อมหลายอย่าง ที่เป็นต้นเหตุทำให้ชายค่อย ๆ กลายเป็นหญิง แต่ยังขาดหลักฐานชี้ชัดมายืนยันความเชื่อดังกล่าว อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์หลายคน อาทิจอห์น แอชบี จากห้องทดลอง "ซินเจนตา เซ็นทรัล แลบบอราทอรี" ที่อังกฤษเชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นผลจากสารเคมีในสิ่งแวดล้อม แต่มาจากการเปลี่ยนแปลงวิถีดำรงชีวิต ปัจจัยหนึ่งที่แอชบีคิดว่าเป็นไปได้ คือแนวโน้มการบริโภคไขมันที่เพิ่มมากขึ้นในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากไขมันมีความเกี่ยวพันกับฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศหญิง การบริโภคไขมันมากขึ้นจึงนำไปสู่ฮอร์โมนเอสโตรเจนที่เพิ่มขึ้น จนอาจเข้าไปแทรกแซงกระบวนการพัฒนาอวัยวะเพศชายในครรภ์มารดา แต่ชาร์ปยกตัวอย่างงานวิจัยชิ้นหนึ่งขึ้นมาแย้ง เพื่อชี้ว่าปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ไม่อาจมองข้ามได้ การศึกษาของเขาพบว่า สารธาเลตส์ ซึ่งใช้กันแพร่หลายในโรงงานเพื่อทำให้พลาสติกอ่อนตัว สามารถทำให้สัตว์ในห้องทดลองมีความผิดปกติเกี่ยวกับอัณฑะ ในลักษณะเดียวกับคนได้ หากสัตว์ตัวแม่ที่ตั้งครรภ์ได้รับธาเลตส์ในช่วงต้นของการพัฒนาตัวอ่อน ตัวอย่างการกลายพันธุ์ของสัตว์ เนื่องจากการรับสารเคมีในสิ่งแวดล้อม ปรากฏให้เห็นในงานวิจัยหลายชิ้นของอังกฤษ อาทิ ฮอร์โมนเอสโตรเจนจากยาคุมกำเนิดที่ปนเปื้อนจากท่อน้ำทิ้งในบ้านลงสู่แหล่งน้ำ มีส่วนทำให้เกิดปลาสองเพศในแม่น้ำอังกฤษ, สารโนนีฟินอล ซึ่งแตกตัวจากยาฆ่าสเปิร์ม เครื่องสำอาง และผงซักฟอก ปนเปื้อนสู่แหล่งน้ำ ทำให้หอยนางรมกลายเป็นหอยสองเพศ ซึ่งไม่สามารถสืบพันธุ์ได้, ราว 1.2% ของหมีขั้วโลกที่มีอยู่ประมาณ 3,000 ตัวที่นอร์เวย์ กลายเป็นหมีสองเพศ และมีระบบภูมิคุมกันบกพร่อง เนื่องจากได้รับสารโพลีคลอริเนตเต็ดไบฟีนิลส์ ซึ่งเป็นสารที่ใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องไฟฟ้า, ส่วนการทดสอบในห้องทดลองก็ชี้ว่า ยาฆ่าหญ้าที่ใช้กันแพร่หลาย สามารถทำให้กบตัวผู้เปลี่ยนเป็นกบสองเพศได้ ศาสตราจารย์ปีเตอร์ แมทเธียสเซน จากศูนย์นิเวศวิทยาและอุทกศาสตร์ระบุว่า แม้จะยังเร็วไปที่จะสรุปว่า สารเคมีในสิ่งแวดล้อมกำลังทำให้มนุษย์เพศชายกลายเพศ และมีความเป็นหญิงมากขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ก็ยังไม่กล้าระบุชัดในข้อนี้ แต่ความผิดปกติทางการเจริญพันธุ์ กำลังเกิดขึ้นกับสัตว์ทุกกลุ่ม ไล่มาตั้งแต่พวกไม่มีกระดูกสันหลังจนถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และปัญหานี้เป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นจริง ไม่ใช่เรื่องทางทฤษฎีเท่านั้น คำถามสำคัญก็คือ สารเคมีในสิ่งแวดล้อม หรือฮอร์โมนและตัวจำลองฮอร์โมนต่าง ๆ ที่กระจายอยู่ในสิ่งแวดล้อม ปนเปื้อนจนสร้างความผิดปกติต่าง ๆ ให้สิ่งมีชีวิตในห่วงโซ่อาหาร จะย้อนกลับมาส่งผลกระทบกับการพัฒนาตัวอ่อนในหญิงมีครรภ์หรือไม่? นักวิทยาศาสตร์คงต้องเร่งหาคำตอบในเรื่องนี้ ก่อนที่ภาวะทางเพศของมนุษย์จะยิ่งเสียสมดุล มากไปกว่าที่เป็นอยู่ |