บทความ เรื่อง : เห่ออาหารฝรั่งเสี่ยงโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ถามหา
   


บทความเลขที่ 248
คนสร้างบทความ :
a
วันที่ตั้งบทความ :
2005-02-18
คะแนนบทความ :
1111(เฉพาะเดือนนี้ )
จำนวนคนอ่าน :
3379(เฉพาะเดือนนี้ )
   


เห่ออาหารฝรั่งเสี่ยงโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ถามหา

------------------------------------------------------------------------------------------------
แพทย์ศิริราช เผยแนวโน้มผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่เพิ่มมากขึ้น เฉพาะ รพ.ศิริราช มีผู้ป่วยร่วม 400 รายต่อปี ผ่าตัดอย่างน้อยวันละ 1ราย สาเหตุจากพันธุกรรมที่ถูกเร่งด้วยพฤติกรรมบริโภคอาหารแบบตะวันตก กินแต่เนื้อผ่านความร้อนสูง ไม่เน้นผักสดผลไม้ แนะกลุ่มเสี่ยงตรวจหาแต่เนิ่น ๆ ยังมีโอกาสรักษาหายได้







นพ.อัษฎา เมธเศรษฐ อาจารย์ประจำภาคศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าวบรรยายเรื่องมะเร็งลำไส้ใหญ่ ว่า โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นโรคที่พบได้บ่อยมากขึ้น ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งในประเทศสหรัฐพบผู้ป่วยด้วยโรคนี้มากถึงปีละ 155,000 ราย ในประเทศไทยจากข้อมูลของสถานวิทยามะเร็งศิริราช ปี 2546 มะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 2 ในผู้ชายคิดเป็นร้อยละ 10.12 และเป็นอันดับ 3 ในผู้หญิงคิดเป็นร้อยละ 6.01 ของจำนวนผู้ป่วยมะเร็งที่มารักษา ซึ่งส่วนใหญ่จะพบได้ตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป และพบมากขึ้นตามอายุที่สูงขึ้น โดยในโรงพยาบาลศิริราชมีผู้ป่วยด้วยโรคนี้เข้ารักษาปีละ 300-400 ราย เข้ารับการผ่าตัดอย่างน้อยวันละ 1 ราย

นพ.อัษฎา กล่าวว่า สาเหตุการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่มีปัจจัยส่วนใหญ่มาจากพันธุกรรม โดยมีสิ่งแวดล้อมเป็นตัวเสริมให้เกิดโรคนี้มากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่รับประทานแต่เนื้อสัตว์ที่ผ่านความร้อนที่สูง แป้ง ไขมัน อย่างอาหารฝรั่งที่มีกากหรือเส้นใยอาหารน้อย ซึ่งในระยะหลังเริ่มพบว่า คนในภูมิภาคนี้ อย่างญี่ปุ่นเริ่มเป็นโรคนี้มากขึ้น เนื่องจากนิยมบริโภคตามตะวันตกอย่างสเต็ก เนื้อย่าง ที่ยากต่อการย่อยและระบบขับถ่าย

ขณะที่คนในประเทศอเมริกา หรือประเทศแถบตะวันตกเองเริ่มหันมาบริโภคอาหารที่เน้นธรรมชาติในแถบบ้านเรามากขึ้น อาการมะเร็งลำไส้ใหญ่เบื้องต้นสังเกตได้จากการถ่ายอุจจาระเป็นมูกเลือด อุจจาระจะมีลักษณะแข็งและเหลวสลับกัน ซึ่งต่างจากริดสีดวงที่มีอาการท้องผูกเท่านั้น อีกทั้งลำอุจจาระจะลำเล็กกว่าปกติและผู้ที่มะเร็งเริ่มลุกลามมักมีอาการน้ำหนักลด ท้องอืด อาเจียน ลำไส้อุดตันและไม่ถ่ายในที่สุดจากการอุดตันของลำไส้

สำหรับการวินิจฉัยโรคนั้น สามารถทำได้ด้วยการส่องกล้องเข้าทางทวารหนักเพื่อดูตลอดความยาวของลำไส้ใหญ่ ซึ่งมีความยาวประมาณ 1–1.5 เมตร ซึ่งเป็นวิธีที่ได้ผลดีที่สุด หากพบติ่งเนื้อหรือเนื้องอกในลำไส้ใหญ่ก็สามารถตัดเศษชิ้นเนื้อออกมาตรวจได้ นอกจากนี้ยังสามารถตรวจด้วยวิธีการสวนแป้ง (Barium Enema) เพื่อเอกซเรย์ดูลำไส้ใหญ่ ทั้งนี้การวินิจฉัยโรคจะแบ่งออกเป็น 4 ระยะ คือ 1.มะเร็งที่อยู่เฉพาะผนังลำไส้ ยังไม่แพร่ออกนอกลำไส้ 2.มะเร็งที่แพร่ออกมานอกลำไส้ แต่ยังไม่ถึงต่อมน้ำเหลือง 3.มะเร็งที่แพร่ไปยังต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียง แต่ยังไม่แพร่ไปยังอวัยวะอื่น และ 4.มะเร็งที่แพร่ไปยังอวัยวะอื่นแล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นปอดและตับ

นพ.อัษฎา กล่าวต่อว่า สำหรับการรักษานั้นจะทำโดยการผ่าตัด ปัจจุบันสามารถผ่าตัดได้ภายในร่างกาย ด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย โดยจะตัดเนื้อร้ายทั้งหมด รวมถึงเนื้อดีบริเวณใกล้เคียงบางส่วน แล้วต่อลำไส้ใหญ่เข้าด้วยกัน แต่ในบางรายไม่สามารถต่อได้ แพทย์จะทำการเปิดลำไส้ไว้ที่ผนังหน้าท้องเพื่อให้อุจจาระไหลออก มีถุงรองรับอุจจาระไว้ อย่างไรก็ตามภายหลังผ่าตัดพบว่า ยังมีการกระจายเซลล์มะเร็ง จะให้ยาเคมีบำบัดฆ่าเซลล์มะเร็งที่เหลืออยู่เป็นการยับยั้ง รวมไปถึงการฉายรังสีรักษา

“การรักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่แตกต่างจากมะเร็งชนิดอื่น ๆ โดยจะเน้นที่การผ่าตัด และใช้ยาเคมีบำบัด และฉายรังสีเพื่อเสริมการรักษาเท่านั้น และมีโอกาสหายได้ ในขณะที่มะเร็งอื่นการใช้เคมีบำบัดและการฉายแสงจะเป็นระยะที่มะเร็งลุกลาม ดังนั้น ผู้ป่วยจึงไม่ต้องกังวลว่า เมื่อฉายแสงไปแล้ว จะแสดงว่าไม่มีทางรักษาและต้องเสียชีวิตในที่สุด” นพ.อัษฎา กล่าว

นพ.อัษฎา กล่าวในตอนท้ายว่า สถานการณ์มะเร็งลำไส้ใหญ่ในประเทศแม้ว่าจะมีแนวโน้มมากขึ้น แต่ยังไม่รุนแรงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะญี่ปุ่น ดังนั้น จึงควรป้องกันด้วยการรับประทานผักสด ผลไม้มาก ๆ เนื่องจากมีสารต่อต้านมะเร็งหรือ สาร antioxidants ในรายที่มีลำไส้อักเสบเรื้อรัง หรือมีติ่งเนื้องอกในลำไส้มาแต่กำเนิดหรือตัดถุงน้ำดีไปแล้ว ควรพบแพทย์เพื่อตรวจเฝ้าระวังโรคเสมอ และควรตรวจหาเลือดในอุจจาระปีละ 1 ครั้ง สำหรับในรายที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงอายุมากกว่า 50 ปี อาจตรวจด้วยวิธีการส่องกล้อง หรือเอกซเรย์ตามการวินิจฉัยของแพทย์


ยังไม่มีคำวิจารณ์ สำหรับ บทความนี้

คนตั้ง  : 
อีเมล์ :
คำวิจารณ์  : 
ยืนยัน
   
วันที่ตั้งกระทู้  : 
21-11-2024


เวป หางาน ค้นหางาน ตำแหน่งงาน พนักงาน ejobonline.com