ผู้สื่อข่าวรายงานจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)ว่า ช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2549 (ต.ค. 2548-ก.พ. 2549) เจ้าหน้าที่ได้ติดตามตรวจสอบพฤติกรรมของผู้ประกอบธุรกิจ 8,364 รายทั่วประเทศ พบว่ามีสินค้า 250 ตัวอย่าง ที่ดำเนินการไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เช่น โฆษณาการทำสัญญาเช่าซื้อและติดฉลากสินค้าไม่ถูกต้อง เบื้องต้นได้ดำเนินการตักเตือนและแนะนำแก้ไขให้ถูกต้อง ซึ่งหากมีความผิดอีกก็จะใช้มาตรการลงโทษตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคต่อไป
ทั้งนี้ พบว่าผู้ประกอบธุรกิจโฆษณาสินค้ามีความผิดมากที่สุด จำนวน 123 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้อความโฆษณาและบริการทั่วไปผ่านสื่อที่เกินความจริง จนทำให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจผิด รองลงมาเป็นการติดฉลากไม่ถูกต้อง เช่น ทองรูปพรรณ เครื่องประดับ อัญมณี ผลิตภัณฑ์พลาสติก เครื่องทำน้ำอุ่นไฟฟ้า และที่นอน นอกจากนี้ยังมีการทำสัญญาธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ เป็นต้น
จุดประสงค์ของการตรวจสอบพฤติกรรมของผู้ประกอบธุรกิจเพื่อต้องการป้องกันและปราบปรามการละเมิดสิทธิผู้บริโภค ซึ่งมีจำนวน 8,364 ราย โดยเป็นการตรวจสอบการโฆษณา 8,063 ราย, สินค้าบริการทั่วไป 154 ราย ธุรกิจควบคุมสัญญาและหลักฐานการรับเงิน 68 ราย และธุรกิจขายตรง 79 ราย ซึ่งที่ผ่านมาได้เชิญผู้ทำความผิดมาชี้แจงและได้ตักเตือนไปแล้ว
สำหรับผลการดำเนินงานในช่วง 5 เดือน พบว่ามีผู้ร้องเรียนและปรึกษาข้อปัญหา 8,938 รายการ โฆษณา 287 ราย, สินค้าบริการทั่วไป 982 ราย, อสังหาริมทรัพย์ 2,380 ราย, ขายตรง 34 ราย และปรึกษาปัญหาเกี่ยวกับข้อกฎหมาย 5,255 ราย เช่น ปัญหาโฆษณาเป็นเท็จหรือเกินความจริง, รถยนต์, โทรศัพท์, การใช้บริการของธนาคาร, สร้างบ้านไม่เสร็จตามกำหนด, ไม่โอนกรรมสิทธิ์เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ และขอให้ตรวจสอบอัตราดอกเบี้ยและลดดอกเบี้ยจากสถาบันการเงิน เป็นต้น
ส่วนเรื่องขายตรง ส่วนใหญ่จะเป็นกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจไม่จ่ายผลประโยชน์ตามแผน ไม่รับคืนสินค้าจากสมาชิก หรือเปลี่ยนแปลงผลประโยชน์ตามแผน โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า ส่วนเรื่องบัตรเครดิตเป็นลักษณะที่ขอให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบค่าธรรมเนียม เนื่องจากได้ยกเลิกการใช้ไปแล้ว แต่ยังมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมขณะที่โทรศัพท์เคลื่อนที่นั้นไม่ได้ทำสัญญาใช้ บริการ แต่มีหนังสือแจ้งให้ชำระหนี้ รวมถึงขอให้ตรวจสอบการให้บริการ เป็นต้น.
"สนับสนุนเนื้อหาโดย"
| |