ปัญหาสาวโคโยตี้ยังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ที่กระทรวงวัฒนธรรม เมื่อวันที่ 1 พ.ย. คุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ รมว.วัฒนธรรม กล่าวว่า ขณะนี้นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รักษาการปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ได้ทำหนังสือแจ้งไปยังสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดทั่วประเทศ กำชับให้ประสานงานร่วมกับจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างใกล้ชิดในการตรวจสอบเฝ้าระวังที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อวัฒนธรรม ประเพณีอันดีของไทยในลักษณะดังกล่าว สำหรับในส่วนของกระทรวงก็จะทำให้ดีที่สุด เนื่องจากตามหนังสือของสำนักราชเลขาธิการในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงย้ำว่าวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาควรงดเว้นการแสดงที่ไม่เหมาะสม
คุณหญิงไขศรีกล่าวต่อไปว่า ขณะนี้มีหลายองค์กรที่ให้ความร่วมมือรับผิดชอบเรื่องดังกล่าว อีกทั้งตามที่มีการเสนอข่าวออกไป ทำให้เกิดความเข้าใจผิดเรื่องสาวโคโยตี้ หรือผู้ที่แต่งกายนุ่งน้อยห่มน้อย ดังนั้น ขอชี้แจงว่ากระทรวงไม่ได้เป็นผู้กำหนดว่าจะต้องห้ามเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี มาทำงานลักษณะนี้ เพราะกระทรวงไม่มีกฎหมายมากำกับดูแล เพียงแต่เมื่อศึกษากรอบการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่ามี พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 เป็นกฎหมายที่คุ้มครองเด็กและเยาวชนอยู่แล้ว ส่วนสถานประกอบการก็มีสำนักงานตำรวจแห่งชาติกำกับดูแล ซึ่งห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี เข้าไปเช่นกัน รวมทั้งผู้ที่ประกอบอาชีพนี้ หากอยู่ในสถานที่ที่เหมาะสม เช่น คลับ บาร์ กระทรวงไม่ได้ออกมาห้ามแต่อย่างใด ที่สำคัญมุ่งเน้นการแสดงไม่เหมาะสมตามสถานที่สาธารณะมากกว่า
ดิฉันไม่เคยพูดเรื่องการจำกัดอายุคนที่จะมาเป็นโคโยตี้ไม่เกิน 20 ปี เพราะไม่ได้มีหน้าที่ดูแลตามกฎหมาย แต่มุ่งเน้นไปในเรื่องของการแสดงที่ไม่ถูกกาลเทศะ เนื่องจากตามหนังสือจากสำนักราชเลขาธิการนั้นพบว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเป็นห่วงการแสดงที่ไม่เหมาะสมในวัดและงานวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาเท่านั้น จึงขอทำความเข้าใจกับทุกฝ่ายว่า กระทรวงเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่เนื่องจากเราได้รับหนังสือจากสำนักราชเลขาธิการ จึงจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมหารือร่วมกับองค์กรต่างๆ เพื่อหารือในส่วนบทบาทความรับผิดชอบ กระทรวงทำได้เพียงเป็นผู้กระตุ้นโดยบอกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ทราบและอาจทบทวนกฎหมายของแต่ละหน่วยงานที่อาจล้าสมัย รวมทั้งในส่วนของกระทรวง ก็กำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการแก้ไข พ.ร.บ.วัฒนธรรมแห่งชาติ ฉบับ พ.ศ.2485 สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ว่าจะมาปรับแก้ หรือยุบเลิกแล้วใช้กฎหมายที่สอดคล้องกับเหตุการณ์ปัจจุบัน เพื่อนำมาใช้กำกับดูแลด้านวัฒนธรรม รมว.วัฒนธรรมกล่าว
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า จากการที่นายวิจิตร ศรีสอ้าน รมว.ศึกษาธิการ แสดงความคิดเห็นไปในทิศทางที่คัดค้าน เรื่องการจำกัดอายุเด็กต่ำกว่า 20 ปี มาทำงานเป็นนักเต้นโคโยตี้จะทำอย่างไร คุณหญิงไขศรีกล่าวว่า เรื่องนี้ไม่มีอะไร ความจริง รมว.ศึกษาธิการก็มีหน้าที่ของท่าน กระทรวงก็มีหน้าที่ของตนเอง เพราะฉะนั้น ต้องให้ความร่วมมือกัน ไม่ได้มีปัญหาอะไร อย่างไรก็ตาม คงไม่ยากที่จะร่วมกันผลักดันให้กรณีนี้เป็นวาระแห่งชาติได้ เพราะสอดคล้องกับนโยบายคุณธรรมนำความรู้ของรัฐบาลอยู่แล้ว
ทั้งนี้ กระทรวงได้รับรายงานจากสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดหนองคาย เป็นหนังสือลงวันที่ 30 ต.ค. 2549 ชี้แจงการแสดงของโคโยตี้เนื่องในงานเทศกาลบั้งไฟพญานาค ชี้แจงข้อเท็จจริงต่อคุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ รมว.วัฒนธรรม และสรุปว่า ทุกส่วนราชการได้รับทราบนโยบายผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย ถึงแนวทางการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ของจังหวัด ดังนั้น เพื่อให้จังหวัดหนองคายดำรงไว้ซึ่งคำกล่าวขานที่ว่า เป็นเมืองน่าอยู่อันดับ 7 ของโลก เมืองอารยธรรมและอริยสงฆ์ เห็นควรวางแนวทางร่วมกัน ในการงดเว้นการแสดงที่ไม่เหมาะสมเหล่านี้ เพื่อช่วยกันจรรโลงรักษาวัฒนธรรมประเพณีที่ดีของจังหวัดหนองคายและของชาติต่อไป
ทางด้านพระโสภณวิหารการ เลขานุการเจ้าคณะจังหวัดหนองคาย วัดโพธิ์ชัย อ.เมือง จ.หนองคาย กล่าวว่า สำนักงานเจ้าคณะจังหวัดหนองคาย ได้ทำหนังสือด่วนที่สุดไปถึงเจ้าคณะอำเภอในเขตการปกครองทุกอำเภอให้แจ้งยังเจ้าคณะปกครองและเจ้าอาวาสทุกวัดให้ช่วยกันสอดส่องดูแลการแสดงทุกประเภทที่จัดขึ้นในวัด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเรื่องทำนองนี้ขึ้นมาอีก
คำว่า โคโยตี้ อาตมากับพระทั้งหลายต่างก็ยังไม่เข้าใจว่าหมายถึงอะไร เพิ่งจะมาได้ยินคำศัพท์ใหม่ๆ ก็คราวนี้เอง ขอรับรองได้ว่าการแสดงประเภทนี้ ไม่เคยมีมาก่อนในวัดทุกแห่งของจังหวัดหนองคาย จะมีบ้างก็ประเภทลิเก หรือหมอลำซิ่งตามวัฒนธรรมของชาวอีสานทั้งตัวผู้ร้องผู้รำก็แต่งกายตามแบบของชาวอีสาน ถึงอย่างไรก็ไม่เต้นกันจนน่าเกลียดเหมือนกับพวกโคโยตี้ ส่วนการเฝ้าระวังนั้นจังหวัดได้จัดประชุมพระสงฆ์ระดับเจ้าคณะอำเภอทุกวันที่ 28 ของเดือนอยู่แล้ว เมื่อเกิดเรื่องอย่างนี้ขึ้น เจ้าคณะอำเภอก็จะต้องนำผลการปฏิบัติและการเฝ้าระวังมารายงานต่อที่ประชุมเพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติต่อไป พระโสภณวิหารการกล่าว
นายวิรุณ ตั้งเจริญ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า ขณะนี้สังคมให้ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องสาวโคโยตี้อย่างมาก ภาพรวมของโคโยตี้เป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันแก้ไข แต่ไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่ ทว่ามันเป็นเรื่องเล็กในเรื่องใหญ่อีกหลายเรื่อง ซึ่งเป็นผลสะท้อนของสังคม ระบบการศึกษา ความคิด ความรู้สึกและค่านิยมของคนรุ่นใหม่ ส่วนตัวคิดว่าเรื่องโคโยตี้ไม่ ต่างอะไรจากปัญหาเว็บโป๊ หรือปัญหาอื่นๆที่เกิดของคนรุ่นหนุ่มสาว เวลานี้เมื่อสังคมให้ความสนใจและต้อง การให้เกิดการดูแลแก้ไขคนที่จะเข้าสู่อาชีพโคโยตี้ คิดว่าทุกภาคส่วนสังคมต้องร่วมรับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นวัด อบต. หรือแม้แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดในจังหวัดต่างๆ ต้องช่วยกันดูแล หรือถ้าการเต้นของสาวโคโยตี้ไปอยู่ในโรงเรียน ทางโรงเรียนต้องร่วมรับผิดชอบ หรือสาวโคโยตี้ไปเต้นบริเวณท้องถนนในสถานที่สาธารณะ หน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบต้องเข้าดูแล ปัญหาโคโยตี้ยังไม่ถึงขั้นต้องเป็นวาระแห่งชาติ แต่โคโยตี้ต้องเป็นส่วนหนึ่งในเรื่องใหญ่ๆ ซึ่งอาจจะไปอยู่ในเรื่องศีลธรรม จริยธรรม การศึกษา การจัดหางาน คุณภาพชีวิต
นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า แก่นปัญหาเรื่องนี้อยู่ที่ยุทธศาสตร์ของผู้ประกอบที่มองเรื่องสรีระและการแต่งกายของผู้หญิง เป็นเครื่องกระตุ้นยอดขายและสินค้า นำมาใช้โดยขาดความรับผิดชอบต่อสังคม และจิตสำนึกต่อเพศหญิง ขาดจริยธรรมในวิชาชีพ ขณะเดียวกันเด็กผู้หญิงที่เข้าไปสู่ เส้นทางโคโยตี้และพริตตี้เอง ส่วนหนึ่งเกิดจากความยากจนและขาดความเข้าใจชัดเจนเรื่องสิทธิสตรี เห็นว่าช่องทางนี้ให้เงินมาก เลี้ยงตัวเองได้ สองเส้นทางนี้จึงมาบรรจบกันพอดี ทำให้กระบวนการโคโยตี้และพริตตี้แพร่ไปทั่ว ตนเห็นด้วยที่จะจำกัดอายุเด็กในการทำงานประเภทนี้ แต่ต้องหางานรองรับให้ด้วย ที่สำคัญต้องเปลี่ยนวิธีคิดของภาคเอกชน เลิกใช้สรีระผู้หญิงมาโปรโมตสินค้า หากยังทำอยู่ ประชาชนต้องร่วมกันต่อต้านเลิกใช้ สินค้านั้น เอาให้เจ๊งไปเลย เพื่อคัดค้านการเอาเพศหญิงมาเต้นยั่วยุทางเพศ ทั้งนี้ อยากเห็นรัฐบาลแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจัง ไม่ใช่ทำแบบไฟไหม้ฟางอย่างที่ผ่านมา |
|
|
สนับสนุนเนื้อหาโดย
| |