บทความ เรื่อง : จัดระเบียบปอเนาะ : ทำไมต้องยึดแบบมาเลย์ ?
   

บทความเลขที่ 138
คนสร้างบทความ :
นายหิว
วันที่ตั้งบทความ :
2004-02-21
คะแนนบทความ :
1199(เฉพาะเดือนนี้ )
จำนวนคนอ่าน :
3763(เฉพาะเดือนนี้ )
   


จัดระเบียบปอเนาะ : ทำไมต้องยึดแบบมาเลย์ ?

------------------------------------------------------------------------------------------------
จัดระเบียบปอเนาะ : ทำไมต้องยึดแบบมาเลย์ ?

โดย มันโซร์ สาและ
ที่ปรึกษาสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย


การจัดระเบียบปอเนาะหรือโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามมิใช่เป็นรื่องใหม่สำหรับรัฐบาลนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เพราะวาระซ่อนเร้นสำคัญที่ควบคู่กับนโยบายการส่งเสริม อุดหนุน พัฒนา ตลอดจนการจัดระเบียบใหม่ภายหลังสถานการณ์ปล้นปืนในค่ายทหารเมื่อต้นปีที่ผ่านมา คือความมั่นคงแห่งชาติ พูดให้ตรงประเด็นก็คือไม่ต้องการให้เกิดแนวคิดการแบ่งแยกดินแดนหรือการต่อต้านอำนาจนั่นเอง

ทำไมต้องเป็นปอเนาะ ?

คำว่า ปอเนาะ เป็นภาษามลายูที่มาจาก ปุนดัก จากภาษาอาหรับแปลว่า ที่พัก หรือโรงแรม ในช่วงศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา บรรดาสุลต่านแห่งนครรัฐมลายูทั้งหลายบนคาบสมุทรมลายารวมทั้งปัตตานี บอร์เนียว สุมาตรา สุละเวสี และ ชวา ต้องการให้พสกนิกรของตนมีความรอบรู้ในวิชาการอิสลามอย่างแตกฉาน เพื่อจะได้กลับมาเป็นกำลังสำคัญในการสอนและการพัฒนาประชาชนให้รู้จักข้อบัญญัติใช้และห้าม (บาป/บุญ )ของอิสลามในการดำเนินชีวิตทั้งในเรื่องส่วนตัว ครอบครัว และสังคม ตลอดจนหลักการปกครอง กฎหมายและศาล ที่จะบังคับใช้ในแต่ละนครรัฐ ฉะนั้นสุลต่านจึงส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้ที่ใฝ่หาความรู้เดินทางไปศึกษาที่นครมักกะฮฺ และ ไคโร สองศูนย์กลางศึกษาที่สำคัญของโลกมุสลิม

เมื่อบุคคลเหล่านั้นสำเร็จการศึกษาและเดินทางกลับมายังมาตุภูมิ ก็เปิดสำนักศึกษาเรียกว่า ปอเนาะ โดยมีอาคารศูนย์กลางหรือบ้านที่มีขนาดใหญ่กว่าเล็กน้อยเป็นศูนย์กลาง ซึ่งอาคารหลังนี้เป็นทั้งบ้านของโต๊ะครู ( บุคคลที่เป็นเจ้าสำนักและเป็นผู้สอนหลัก ) เป็นทั้งสถานที่ละหมาดและเรียนร่วมกัน ส่วนผู้ที่ไปเรียนกับโต๊ะครู ก็จะพักเหมือนนักเรียนหอแบบกินนอนในกระต๊อบเล็กๆที่ปลูกใกล้ๆอาคารศูนย์กลาง สำหรับปอเนาะบางแห่ง ก็จะมีบ้านผู้คนอยู่อาศัยเป็นครอบครัวซึ่งมีทั้งครูช่วยสอน หรือประชาชนที่มาจากข้างนอก เข้าไปสร้างบ้านในอาณาบริเวณนั้น เรียกว่า ปอเนาะใน

ในอดีต สำนักปอเนาะหรือชุมชนปอเนาะเป็นชุมชนที่ปลอดจากกิจกรรมอบายมุขทุกชนิด เช่น หนังกลางแปลง ลิเก ฮูลู หนังตะลุง เป็นต้น แต่ทุกวันนี้ ชุมชนปอเนาะไม่เข้มแข็งพอที่จะต้านกระแสเลวร้ายที่มาควบคู่กับการพัฒนาได้เลย แต่ก็ยังอยู่ในขั้นที่ดีอยู่
การเรียนการสอนในปอเนาะจะใช้ภาษามลายูเป็นภาษาสื่อสารทำความเข้าใจในเนื้อหา เนื้อหาวิชาที่ทำการสอนก็เกี่ยวกับรู้จักเอกภาพแห่งพระเจ้า จริยธรรม กฎหมาย และภาษา เป็นต้น

ในยุคอาณานิคม สำนักปอเนาะและโต๊ะครูกลายเป็นบุคคลที่อยู่ที่อยู่ในบัญชี ดำของเจ้าอาณานิคม เพราะกลุ่มโต๊ะครูส่วนหนึ่งกลายเป็นหัวหอกนำในการต่อสู้เพื่อเอกราชของมาเลเซีย อินโดเนเซียและทั่วโลก ไม่เพียงแต่กลุ่มชาตินิยมเท่านั้น ปอเนาะคือป้อมปราการที่เข้มแข็งที่สุดในการต่อลัทธิอาณานิคม

สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดภาคใต้นั้น หลังจากสุลต่านอับดุลกอเดร์ กามารุดดีน ได้บันทึกสาระสำคัญของปัญหาความขัดแย้งต่อรัฐบาลไทยเพื่อแก้ไข แต่เขากลับถูกจับและจำคุก และต่อมาเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2490 โต๊ะครูหะญีสุหลง โต๊ะมีนา ในนามโต๊ะครู จำนวน 100 คน ที่เป็นสมาชิกสมาคมเอกภาพมลายูใหม่ ได้ยื่นมติเรียกร้องอย่างสันติวิธีต่อรัฐบาลไทย 7 ข้อที่มีเนื้อหาสาระคล้ายๆกับสุลต่านอับดุลกอเดร์ กามารุดดีนเคยนำเสนอเพื่อแก้ปัญหา แต่ผลลัพท์ ที่ได้รับมาคือ โต๊ะครูหะญีสุหลง ถูกจับแล้วฆ่าโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่สงขลา ส่วนบรรดาโต๊ะครูที่ลงลายมือชื่ออีกร้อยกว่าคนก็ถูกกล่าวว่าเป็นขบถ แล้วถูกตามล่า ตามฆ่าจากเจ้าหน้าที่บ้านเมือง จนต้องอพยพหนีไปยังมาเลเซียและมักกะฮฺ และเมื่อการต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมที่นำโดยกลุ่มโต๊ะครูอย่างสันติวิธีไม่สำเร็จ พวกเขาจึงเลือกแนวทางการต่อสู้ด้วยอาวุธในนามของขบวนการกู้ชาติปัตตานี ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่เกิดขึ้นบนหน้าแผ่นดินนี้ทั่วโลก

ฉะนั้น ในบทบันทึกของความมั่นคงแห่งชาตินั้น กลุ่มโต๊ะครูและสำนักปอเนาะถือเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติและอุปสรรคสำคัญยิ่งต่อกระบวนการสร้างความเป็นไทยเหนือประชาชน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งแตกต่างจากมุสลิมที่เข้าเรียนโรงเรียนประถมรัฐบาลที่บังคับเรียนวิชาศีลธรรม( พุทธ )

เมื่อขบวนการติดอาวุธเริ่มเคลื่อนไหวในพื้นที่ชัดเจนมากขึ้นเป็นลำดับ รัฐบาลจึงได้ประกาศนโยบายจัดระเบียบปอเนาะครั้งแรกราวปี พ.ศ. 2510 โดยมีสาระ สำคัญก็คือ 1. เรียกร้องให้จดทะเบียน และจัดระบบเป็นโรงเรียนโดยเอาหลักสูตรสามัญเข้าไปด้วย 2. สนับสนุนงบประมาณ 3. จัดส่งครูสามัญ 4. ควบคุมการบริหาร และหลักสูตรเพื่อให้ได้มาตรฐานการศึกษาของชาติ และที่สำคัญเน้นให้คนรุ่นใหม่เหล่านี้พูดไทยไทยได้

นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา สำนักปอเนาะซึ่งเป็นสำนักศึกษาที่มีชื่อเสียงของปัตตานีในอดีตก็ได้เปลี่ยนไปตามนโนบายการจัดระเบียบของรัฐบาลจนกลายเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามที่จดทะเบียนและจัดหลักสูตรการศึกษาแบบบูรณาการระหว่างภาควิชาศาสนากับสามัญ (acadamy ) ในสัดส่วนที่เท่ากัน ซึ่งขณะนี้มีเกือบ 200 กว่าแห่ง ส่วนที่จดทะเบียนต่อทางการ แต่ไม่จัดหลักสูตรแบบบูรณาการในสัดส่วนที่เท่ากันมีราว 300 กว่าแห่ง ส่วนสำนักปอเนาะที่ยังไม่จดทะเบียนมีอีกประมาณ 70 กว่าแห่ง

ปอเนาะในมาเลเซีย-บรูไน

มาเลเซียเคยเป็นประเทศอาณานิคมของอังกฤษมาก่อน และมีกลุ่มที่ต่อสู้เพื่อเอกราช
2 กลุ่มแนวคิดด้วยกันคือ แนวคิดศาสนาได้แก่บรรดาโต๊ะครู หรืออุลามาอฺ กับแนวคิดชาตินิยมคือ กลุ่มที่ได้รับการศึกษาจากตะวันตก ประกอบด้วยกลุ่มชาวมาเลย์ กลุ่มชาวจีน เป็นส่วนหลัก และเป็นที่มาของพรรคแพนอิสลามแห่งมาเลเซีย( ปาส ) พรรคอัมโน และพรรคของชาวจีนในปัจจุบัน ซึ่งทั้งสองฝ่ายก็ยังคงขับเคี่ยวบนเวทีทางการเมืองอย่างเข้มข้นในมาเลเซีย

ส่วนการจัดระเบียบการเรียนการสอนศาสนาในมาเลเซียไม่ได้แตกต่างไปจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มากนัก เพราะมาเลเซียหลังได้รับเอกราชก็ยังตกอยู่ภายใต้การผูกขาดการบริหารประเทศที่มีพรรคอัมโนเป็นแกน ส่วนพรรคปาสตกเป็นฝ่ายค้านมาโดยตลอด

ดังนั้น เพื่อให้อิทธิพลของพรรคปาสลดน้อยลง ทางรัฐบาลจึงจัดระบบการศึกษาเป็นโรงเรียนศาสนารัฐบาลทั่วประเทศ เรียกว่าโรงเรียนอาหรับแห่งชาติ จัดหลักสูตรแบบบูรณาการ ศาสนากับสามัญ แต่ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ผู้ปกครองชาวมาเลย์กลับไม่ส่งลูกหลานเข้าโรงเรียนรัฐบาลหลักสูตรนี้ เพราะไม่ได้ทั้งคุณภาพทางวิชาการและความประพฤติที่ดี จนบางแห่งต้องปิดตัวลง

ส่วนอีกประเภทหนึ่ง เป็นโรงเรียนเอกชนที่ยื่นจดทะเบียนในนามโรงเรียนศาสนาเอกชน จัดหลักสูตรการศึกษาแบบบูรณาการมีวิชาหลักๆทางศาสนาและวิชาสำคัญในสายสามัญ เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาตร์ ภาษาอังกฤษ ประวัติศาสตร์ ภูมิศาตร์ เป็นต้น โรงเรียนประเภทนี้ได้รับการอุดหนุนงบประมาณจากรัฐบาลจำนวนหนึ่ง แต่ไม่ร้อยเปอร์เซนต์และครูที่สอนวิชาสามัญ ซึ่งเป็นวิธีการเดียวกับที่ใช้ในประเทศไทยที่เรียกว่า ครูสำนักงานศึกษาเอกชน ( ครู ส.ช. )

ส่วนอีกประเภทหนึ่ง เป็นโรงเรียนที่จดทะเบียนกับรัฐบาล และไม่ยื่นของบอุดหนุนจากรัฐบาลเลย เพราะอาจไม่เข้ากฎเกณฑ์ที่รัฐบาลกำหนดไว้ จัดหางบประมาณเองทั้งหมด จัดวางหลักสูตรตามแนวที่รัฐบาลกำหนด

ส่วนสุดท้ายสถานศึกษาแบบปอเนาะที่เน้นหนักเนื้อหาทางศาสนาเป็นหลัก ปอเนาะเหล่านี้ไม่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลแต่อย่างใด และจัดหลักสูตรศาสนากันเองกันเอง

สถานการศึกษาของภาคประชาชนสามประเภทหลังผุดขึ้นอย่างมากมายในรัฐกลันตัน ตรังกานู เคดาห์ และกระจัดกระจายไปยังรัฐอื่นๆของประเทศแต่มีจำนวนไม่มากนัก ส่วนที่รัฐกลันตันและตรังกานูนั้นได้มีนักเรียน นักศึกษาจากรัฐอื่นมาเรียนเป็นจำนวนมาก เช่นเดียวกับโรงเรียนเอกชนและปอเนาะในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีนักเรียน นักศึกษามุสลิมมาจากทั่วประเทศ และประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย

และในช่วงสองทศวรรษหลังนี้ โรงเรียนทั้งสามประเภทหลัง กลับได้รับความไว้วางใจและเป็นที่นิยมจากบรรดาผู้ปกครองมุสลิมชาวมาเลย์ทุกระดับให้เป็นสถานการศึกษาที่ให้การอบรม สั่งสอน วิชาการแก่บุตรหลานของพวกเขาให้มีชีวิตที่ดีทั้งในโลกนี้และโลกหน้า

สำหรับนักเรียนที่สำเร็จระดับมัธยมต้นและปลายจากโรงเรียนเหล่านี้ต่างก็ได้รับความสำเร็จในการแข่งขันเข้าสู่สถาบันการศึกษาระดับสูงของประเทศและต่างประเทศไม่แพ้พวกที่จบจากโรงเรียนรัฐบาล แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น บรรดานักเรียนเหล่านั้น ต่างเป็นนักเรียนที่มีความประพฤติที่ดีเมื่อเปรียบเทียบกับนักเรียนที่สำเร็จจากโรงเรียนของรัฐบาล ซึ่งปรากกฎการ์ณทำนองนี้เริ่มเห็นภาพชัดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ของไทย

เมื่อสถานศึกษาทั้งประเภทนี้กำลังได้รับความนิยมสูงในหมู่ชาวมาเลย์ จึงทำให้พรรคอัมโนวิตกกังวลว่า การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปี 2004 บรรดาผู้ปกครองเหล่านั้นต่างก็เทคะแนนให้แก่พรรคปาส ซึ่งในระยะหลังนี้ได้รับการสนับสนุนจากชาวมาเลเซียเชื้อสายมลายูสูงกว่าพรรคอัมโน

เมื่อต้นปี 2003 รัฐบาลภายใต้การนำของนายแพทย์มหาฎีร์ มูฮัมหมัด มีดำริที่จะปิดโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม พร้อมกับการจัดระเบียบเข้มข้นบนพื้นฐานที่ขาดด้วยเหตุและผลที่เหมาะสมและเป็นธรรม เพียงเพื่อสกัดอิทธิพลของพรรคฝ่ายค้านเป็นสำคัญ เป็นเหตุให้เกิดกระแสต่อต้านรัฐบาลจากกลุ่มโรงเรียน ผู้ปกครอง องค์กรเอกชนทั่วมาเลเซียอย่างกว้าง ในที่สุด รัฐบาลต้องพับเก็บดำรินี้ไป แต่ก็ดำเนินการบ้างอย่างลับๆ ทุกวันนี้ การปิดโรงเรียนนี้ กลายเป็นประเด็นการหาเสียงโจมตีพรรคอัมโนของพรรคฝ่ายค้านในการเลือกตั้งในปีนี้ไปเสียแล้ว

ฉะนั้น นโยบายการจัดระเบียบโรงเรียนปอเนาะในภาคใต้ของไทย รัฐบาลจะต้องศึกษาผลได้ผลเสียอย่างรอบคอบเพราะอาจส่งผลกระทบด้านลบต่อรัฐบาลและกลไกราชการในอนาคต ส่วนที่รัฐบาลมีความวิตกกังวลเรื่องความมั่นคงนั้น รัฐบาลเองก็ควรมีมุมมองที่หลากหลายและไม่คับแคบจนเกินไป อาจผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ระหว่างฝ่ายรัฐกับประชาชนจึงจะเกิดใต้สันติสุขแบบยั่งยืนและมั่นคงที่แท้จริง


ยังไม่มีคำวิจารณ์ สำหรับ บทความนี้
คนตั้ง  : 
อีเมล์ :
คำวิจารณ์  : 
วันที่ตั้งกระทู้  : 
03-01-2025


เวป หางาน ค้นหางาน ตำแหน่งงาน พนักงาน ejobonline.com