คลื่นได้เคลื่อนไปตามแนวสันเขาใต้มหาสมุทร (ridge) เหมือนกับการที่รถไฟแล่นไปตามราง
การถล่มของคลื่นสึนามิเมื่อเดือนธันวาคม ปีกลายไม่เพียงเกิดขึ้นกับประเทศในแถบรอบ ๆ มหาสมุทรอินเดีย และบางประเทศในแอฟริกาตามที่มีการรายงานเท่านั้น แต่คลื่นอันทรงพลังนี้ได้เดินทางไปไกลแทบจะรอบโลกตามเส้นทางอันน่าประหลาดใจอย่างยิ่ง นักวิทยาศาสตร์ได้กล่าวเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่าคลื่นได้เคลื่อนไปตามแนวสันเขาใต้มหาสมุทร (ridge) เหมือนกับการที่รถไฟแล่นไปตามราง
ด้วยการใช้ภาพถ่ายจากดาวเทียมและการจำลองทางคอมพิวเตอร์ นักวิทยาศาสตร์แสดงให้เห็นว่าแนวสันเขาใต้ท้องทะเลชื่อ the Southwest Indian Ocean Ridge (แนวนอน-เฉียงเล็กน้อย-สีส้มบริเวณตรงกลางค่อนมาข้างล่างของภาพ) และ the Mid-Atlantic Ridge (แนวเฉียงขึ้น จากบริเวณลองจิจูดที่ 0 องศาไปทางเหนือ) ควบคุมทิศทางของคลื่นผ่านมหาสมุทรแอตแลนติก
|
|
แนว the Southeast Indian Ridge นำทางให้คลื่นเคลื่อนที่เข้าสู่และผ่านมหาสมุทรแปซิฟิก
ในขณะที่แนว the Southeast Indian Ridge (บริเวณล่างขวาของภาพ), Pacific-Antarctic Ridge (บริเวณล่างขวาของภาพ), และ the East Pacific Rise (บริเวณทางซ้ายของภาพ) ก็นำทางให้คลื่นเคลื่อนที่เข้าสู่และผ่านมหาสมุทรแปซิฟิก
นักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องนี้ซึ่งนำโดย Vasily Titov แห่ง National Oceanic and Atmospheric Administration (NOAA) ได้ใช้เครื่องวัดการขึ้น-ลงของน้ำในบริเวณต่าง ๆ ทั่วมหาสมุทรด้วย เพื่อวัดระดับความสูงของคลื่นที่เคลื่อนที่ผ่าน และข้อมูลที่อ่านได้ให้ผลที่น่าประหลาดใจตามภาพข้างบน (สามารถดูภาพที่คมชัดกว่าได้ที่ http://www.sciencemag.org/cgi/data/1114576/DC1/1 และภาพเคลื่อนไหวจำลองการเดินทางของคลื่นสึนามิไปทั่วโลกได้ที่ http://www.sciencemag.org/content/vol0/issue2005/images/data/1114576/DC1/1114576s1.mov )
|
|
เครื่องวัดจำนวนมากในมหาสมุทรอินเดียทำงานผิดปกติ
จากการใช้เครื่องวัดที่บริเวณต่าง ๆ พบว่าคลื่นที่เคลื่อนเข้าสู่บริเวณใกล้ Callao ของประเทศเปรู (พยายามสังเกตสัญลักษณ์น้ำกระเพื่อมเป็นวงกลมบริเวณละติจูดที่ 10 องศาใต้ ลองจิจูดที่ 80 องศาตะวันตก) และบริเวณอื่นใกล้ Nova Scotia ของประเทศแคนาดา (สังเกตสัญลักษณ์น้ำกระเพื่อมเป็นวงกลมบริเวณละติจูด 45 องศาเหนือ ลองจิจูด 65 องศาตะวันตก) มีขนาดใหญ่กว่าคลื่นที่เข้าสู่เกาะ Cocos (ละติจูด 10 องศาใต้ ลองจิจูด 95 องศาตะวันออก) เกาะซึ่งอยู่ใกล้ศูนย์กลางแผ่นดินไหวกว่าทั้งสองแห่งมาก อย่างไรก็ตามพบว่าเครื่องวัดจำนวนมากในมหาสมุทรอินเดียทำงานผิดปกติหรือไม่ก็ชำรุดอันส่งผลให้พลาดข้อมูลของบริเวณที่คาดว่าจะพบคลื่นขนาดใหญ่ที่สุดบางแห่ง (ศึกษาตำแหน่งของสถานที่ต่าง ๆ ได้จากแผนที่ออนไลน์ที่ http://worldatlas.com )
|
|
ข้อมูลที่วัดได้ที่บริเวณอันห่างไกลจากแหล่งกำเนิดคลื่นสึนามิทั้งสองแห่งนี้สอดคล้องกับเส้นทางการเดินทางของคลื่นผ่านมหาสมุทรเป็นอย่างยิ่ง
เครื่องวัดใกล้บริเวณทั้งสองนี้รวมถึงอีกสองที่คือที่ Manzanillo ในประเทศเม็กซิโก และ Arica ในประเทศชิลี บันทึกคลื่นที่มีความสูงมากกว่า 20 นิ้ว ซึ่งเป็นความสูงในขนาดพอ ๆ กับคลื่นที่ผ่านเกาะ Cocos แต่ละจุดของทั้งสี่แห่งเป็นจุดที่สิ้นสุดการเดินทางของคลื่นซึ่งเดินทางมาไกลถึง 12,000 ไมล์ (7,500 กม.) จากศูนย์กลางแผ่นดินไหว
คล้ายกับการที่รถไฟความเร็วสูงเลี้ยวไปตามราง เมื่อคลื่นสึนามิวิ่งกระทบเข้ากับจุดหักเลี้ยวตามแนวสันเขาใต้น้ำ ส่วนหนึ่งของคลื่นจะเคลื่อนที่เลี้ยวไปตามแนวสันเขาใต้น้ำนั้น แต่ส่วนของคลื่นที่เหลือจะตกรางไม่เลี้ยวไปตามแนวสันนั้นและพุ่งออกไปในอีกทิศทาง
ตัวอย่างหนึ่งคือคลื่นที่เคลื่อนจากเกาะสุมาตราไปทางตะวันตกเฉียงใต้ตามแนว the Southwest Indian Ocean Ridge เข้ากระทบจุดหักเลี้ยวเมื่อมันมาถึงแนว the Mid-Atlantic Ridge ซึ่งเฉียงขึ้นทางเหนือ พลังงานของคลื่นบางส่วนเลี้ยวไปสู่ทวีปอเมริกาเหนือ แต่อีกส่วนซึ่งเป็นส่วนที่มากไม่ได้เลี้ยว มันพุ่งเข้าไปที่บริเวณทางตะวันออกของทวีปอเมริกาใต้
|
|
พลังงานของคลื่นจากแผ่นดินไหว ณ ตำแหน่งหนึ่งสามารถเคลื่อนที่ไปในมหาสมุทรทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม แนวสันเขาใต้ท้องมหาสมุทรไม่ได้ส่งผลต่อทิศทางของคลื่นที่ได้ทำลายพื้นที่รอบมหาสมุทรอินเดียแต่อย่างใด การเปลี่ยนแปลงของพื้นใต้ทะเลในตอนเริ่มแรกซึ่งเป็นแนวยาวและแคบจากการเกิดแผ่นดินไหวได้ปลดปล่อยพลังงานของคลื่นให้พุ่งออกมา
ในขณะที่ไม่มีรายงานความเสียหายจากสึนามิโดยตรงในบริเวณนอกแถบมหาสมุทรอินเดีย การศึกษานี้แสดงว่าพลังงานของคลื่นจากแผ่นดินไหว ณ ตำแหน่งหนึ่งสามารถเคลื่อนที่ไปในมหาสมุทรทั่วโลก
การจำลองของสึนามิให้ความเข้าใจในเรื่องการเคลื่อนของคลื่นในมหาสมุทรเปิดซึ่งไม่สามารถได้รับจากวิธีการวัดระดับการขึ้น-ลงของน้ำได้ นักวิทยาศาสตร์เขียน นี่เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับบริเวณมหาสมุทรเปิดซึ่งข้อมูลมีอยู่น้อยมาก
|
|
ข้อมูลอ้างอิง
- เอกสารอ้างอิง Titov et al., The Global Reach of the 26 December 2004 Sumatra Tsunami, Science 2005 0: 11145761 |
|