บทความเลขที่
128 |
|
คนสร้างบทความ : |
นาย หิว |
วันที่ตั้งบทความ : |
2004-02-11 |
คะแนนบทความ : |
1435(เฉพาะเดือนนี้ ) |
จำนวนคนอ่าน : |
5063(เฉพาะเดือนนี้ ) |
ยกเครื่อง 16 กฎเหล็กคุมนักเรียน จูงมือแฟนเที่ยวห้างเจอตัดคะแนน ------------------------------------------------------------------------------------------------ |
ยกเครื่อง 16 กฎเหล็กคุมนักเรียน จูงมือแฟนเที่ยวห้างเจอตัดคะแนน manager นับตั้งแต่ปี 2501 เป็นต้นมา หรือพูดง่ายๆ ว่า 45 ปีมาแล้ว ที่กฎ ระเบียบว่าด้วยการดูแลและคุ้มครองเด็กของกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ไม่เคยได้รับการปัดฝุ่นหรือนำมาปรับปรุงแก้ไขใหม่ ความผิดที่ระบุไว้เป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น วิธีการลงโทษเมื่อ 40 กว่าปีผ่านมาเป็นอย่างไรก็ยังคงเป็นเช่นนั้นไม่มีเปลี่ยนแปลง แต่เมื่อสถานการณ์ของสังคมและสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไป กฎ ระเบียบเก่าบุโรทั่ง ก็จำเป็นต้องได้รับการปรับแก้เสียใหม่ เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำทีมโดยกระทรวงศึกษาธิการ จึงได้มาจับเข่าคุยกันเพื่อพิจารณาแนวทางแก้ปัญหาพฤติกรรมที่เกี่ยวกับเด็กนักเรียนกันใหม่อีกครั้ง เพื่อให้กฎระเบียบต่างๆ ทันสมัยไฮเทคขึ้น 16 ความผิดคาดโทษนักเรียน ผลจากการประชุมร่วมกันในครั้งนั้น ศธ.ได้กำหนด "16 กระทงความผิด" ขึ้นมาเพื่อให้พนักงานคุ้มครองเด็กอันประกอบด้วยสารวัตรนักเรียน ครูและผู้ปกครอง ที่ได้แต่งตั้งนำไปใช้กำกับดูแลพฤติกรรมอันไม่พึงประสงค์ของนักเรียน สำหรับความผิดที่มีการเพิ่มเติมมาจากของเดิมมีอยู่ 2 กระทงด้วยกัน ได้แก่ การข่มขู่ บังคับรีดไถ ซึ่งเป็นผลมาจากการร้องเรียนของผู้ปกครองและการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนถึงมาเฟียในโรงเรียนที่มักรีดไถทรัพย์สินจากเด็กนักเรียนที่อ่อนด้อยกว่า ส่วนอีกข้อคือการลักทรัพย์ ซึ่งเดิมไม่เคยมีการกำหนดเอาไว้ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ปัญหาต่างๆ ก็มีการเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพแวดล้อมของสังคม จึงถูกเพิ่มเติมเข้ามา ส่วนประเด็นความผิดอื่นๆ ที่มีระบุไว้บ้างแล้วก็ถูกปรับให้เหมาะสมกับยุคสมัยขึ้น(อ่านรายละเอียดในตารางประกอบข่าว) ดร.จรวยพร ธรณินทร์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะที่จับงานด้านนี้โดยเฉพาะ กล่าวถึงวิธีการพิจารณาความผิดของนักเรียนที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมว่า ได้มีการเพิ่มบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการสถานศึกษา ผู้บริหาร และครู ในการใช้ดุลพินิจร่วมกันสำหรับการพิจารณาโทษขั้นรุนแรง ตั้งแต่พักการเรียนถึงการไล่ออก ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ครูฝ่ายปกครองเพียงฝ่ายเดียว รวมทั้งให้มีการแต่งตั้งครูและผู้ปกครองให้เป็นพนักงานคุ้มครองเด็ก ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 โดยถือว่าเป็นพนักงานตามกฎหมายอาญา ที่จะคอยเสริมกำลังกับสารวัตรนักเรียน โดยจะต้องแสดงบัตรที่ได้รับการอนุญาตจาก ศธ.ทุกครั้งในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ นอกจากนี้ จะใช้เทคโนโลยีชั้นสูงเข้ามากำกับติดตามการดำเนินงาน โดยใช้บัตรสมาร์ทการ์ด ที่ระบุเลขประจำตัว 13 หลักของนักเรียน ติดตามข้อมูลและรายละเอียดต่างๆ ของตัวเด็ก ซึ่งพนักงานคุ้มครองเด็กฯ จะต้องรายงานข้อมูลของเด็กที่มีการฝ่าฝืนและกระทำผิดต่อต้นสังกัดเพื่อทำบันทึกไว้ด้วย "สำหรับแนวปฏิบัติสำหรับการลงโทษนักเรียนเริ่มตั้งแต่กระบวนการยุติธรรมในการสืบสวน สอบสวน โดยใช้แนวทางการสัมภาษณ์ การค้นหาหลักฐานอย่างละเอียดตามหลักการของตำรวจ การใช้เทคนิคการประชุมกลุ่มครอบครัว ในกรณีที่เด็กกระทำผิดต้องให้เด็กได้ยอมรับสิ่งที่กระทำผิดด้วยความเต็มใจและทุกฝ่ายที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องจึงร่วมกันกำหนดโทษ"ดร.จรวยพรอธิบาย ความเห็นสองด้านของนักเรียน ด้านผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงนั้น คงหนีไม่พ้นวัยโจ๋ที่อายุต่ำกว่า 18 ปีเป็นต้นไป เพราะมาตรการที่ออกมา ล้วนเพื่อกำกับดูแลพฤติกรรมของเหล่าวัยเรียนทั้งหลาย ซึ่งหลายคนเมื่อได้ฟังกระทงความผิดที่ทาง ศธ.ตั้งขึ้นมา ก็ถึงกับยิ้ม เหมือนที่ "วิน" หรือ นายธนวินท์ นุยุทธิ์ นักศึกษา ปวช.ปี 2 สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือรู้สึกว่า กระทงความผิดและโทษที่ทาง ศธ.กำหนดไว้นั้น เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันแล้ว และไม่คิดว่าจะเป็นการจำกัดเสรีภาพกันมากเกินไปนัก "ผมเห็นด้วยนะกับกฎที่จะออกมาใช้ดูแลนักเรียน แม้ผมจะรู้สึกว่าเด็กที่ทำสีผมทุกคนใช่ว่าเขาเป็นเด็กไม่ดีทั้งหมด แต่ถ้าเพื่อความเรียบร้อยของสถาบันการศึกษา ผมว่ามันก็ควรมีแบบแผนที่จะนำมาใช้เพื่อความเป็นระเบียบบ้าง และการลงโทษที่จะให้นักเรียนออกไปบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมนั้น "ผมเห็นด้วยอย่างมากเลยอย่างน้อยสังคมก็ได้ประโยชน์ และดีกว่าส่งตัวเข้าสถานพินิจเยอะ พอเข้าไปก็ไปเจอกับพรรคพวกที่มีพฤติกรรมไม่ดีเหมือนๆ กัน ก็ทำให้มีกลุ่มก้อนชวนกันไปทำเรื่องไม่ดีอีก ลงโทษแบบนี้ดีแล้วครับ" ขณะที่ นายภวินท์ บุญล้ำ นักศึกษา ปวช.ปี 2 เพื่อนร่วมสถาบันเดียวกับ วิน ไม่ได้คิดเช่นนั้น เขารู้สึกว่ากระทงความผิด 16 ข้อที่กำหนดออกมานั้นหยุมหยิมและไม่น่าจะนำมาใช้ปฏิบัติได้จริง เนื่องจากมีรายละเอียดไม่ชัดเจนพอ เช่น การห้ามนักเรียน นักศึกษาออกจากบ้านในเวลา 22.00-04.00 ของวันรุ่งขึ้น โดยเขาให้เหตุผลว่าหากเด็กคนใดมีธุระที่ต้องอออกจากบ้านจริงๆ จะทำอย่างไร ศธ.จะต้องทำแบบฟอร์มการลงนามรับรองให้ลูกออกจากบ้านยามค่ำคืนวางจำหน่ายในท้องตลาด เพื่อให้พ่อแม่ผู้ปกครองซื้อไปใช้หรือไม่ หรือการห้ามนักเรียนประพฤติตนในทำนองชู้สาวก็ไม่ได้มีการกำหนดเอาไว้ว่า ทำนองชู้สาวนั้นถึงขั้นไหน หากไปเดินเที่ยวในห้างสรรพสินค้ากับแฟนตามลำพัง 2 คนจะถือว่าเป็นการประพฤติเชิงชู้สาวหรือไม่ รวมไปถึงการห้ามนักเรียน นักศึกษาออกจากสถานศึกษาในเวลาเรียน โดยจะขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการให้ช่วยดูแลสอดส่องนั้น ภวินท์ก็สงสัยอีกเช่นกันว่า ทุกโรงเรียนต้องส่งตารางเรียน ตารางสอนให้กับห้างสรรพสินค้าทุกแห่งหรือไม่ เพื่อให้ทราบว่าเวลาใดเด็กโรงเรียนไหนเลิกเรียนแล้ว เพื่อจะได้ตามตักเตือนได้ถูก "การกำหนดกฎ ระเบียบต่างๆ ออกมาใช้นั้น ผมว่าเป็นการกำหนดที่เป็นนามธรรมเกินไป แต่ไม่สามารถนำมาปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมได้ หากกระทงความผิดทั้ง 16 ข้อถูกประกาศออกมาใช้จริง รับรองว่าจะมีเด็กถูกจับกันระนาวแน่นอน เพราะไม่ได้ระบุรายละเอียดความผิดให้ชัดเจนและบางข้อดูมันเป็นเรื่องที่เล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น"ภวินท์กล่าวทิ้งท้าย อนึ่ง กระทงความผิดทั้ง 16 ข้อและแนวทางการพิจารณาลงโทษนั้น ในวันที่ 19 ก.พ.นี้ จะมีการประชุมสัมมนาอีกครั้ง โดยจะเชิญนักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครอง ครู และผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมกันแสดงความคิดเห็นที่ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ ระหว่างเวลา 09.00 - 16.30 น. ซึ่งขาโจ๋ ขาจ๊าบทุกคน สามารถร่วมแสดงความเห็นเจ๋งๆ ได้ |