บทความเลขที่
184 |
|
คนสร้างบทความ : |
a |
วันที่ตั้งบทความ : |
2004-10-31 |
คะแนนบทความ : |
1482(เฉพาะเดือนนี้ ) |
จำนวนคนอ่าน : |
4134(เฉพาะเดือนนี้ ) |
เซ็กซ์ทำให้ผู้หญิงแปดเปื้อน ? แต่ทำให้ผู้ชายมีประสบการณ์? ------------------------------------------------------------------------------------------------ |
ใครคิดว่า ถ้าวัยรุ่นหญิงแต่งกายเรียบร้อยแล้วจะช่วยลดการข่มขืนได้ ...ยกมือขึ้น? ใครคิดว่า โรงเรียนไม่ควรรับคนที่เป็นเกย์ ตุ๊ด ทอม ดี้ เข้ามาเป็นครูบาอาจารย์บ้าง ...ยกมือขึ้น? ใครคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา หากลูกสาวแต่งงานและออกไปทำงานนอกบ้าน ในขณะที่สามีกลับอยู่บ้านเลี้ยงลูกเฉยๆ...? ใครคิดว่า......... คำถามเหล่านี้ถูกใช้เกริ่นนำให้กับบรรดาครูอาจารย์ที่ได้เข้าร่วมเสวนาในหัวข้อ อคติเรื่องบทบาทหญิงชายในเพศศึกษา ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 26 ต.ค.ที่โรงแรมแอมบาสซาเตอร์ จากคำถามแรกที่มีผู้ร่วมยกมือเห็นด้วยกว่าครึ่งห้อง กลับค่อยๆ ลดลงในคำถามถัดๆ ไป พร้อมฉายแววตาของความฉงนและครุ่นคิดว่า ตนควรจะยกมือขึ้นดีหรือไม่ ด้วยเหตุผลความเชื่อเช่นไร และโดยหารู้ตัวไม่ หลังจากการเสวนาจบ พวกเขาจะรู้ว่าคำตอบหรือการตัดสินใจจะตอบในคำถามเหล่านี้ ล้วนยากยิ่งกว่าเวลานี้อีกเป็นเท่าทวีคูณ รวมถึงอคติความเชื่อเก่าๆ ซึ่งกำลังจะถูกท้าทายอย่างคาดไม่ถึง -1- โตมร ศุขปรีชา นักเขียนและคอลัมนิสต์ชื่อดัง กล่าวว่า ในการที่จะอธิบายเรื่องราวเหล่านี้ คำสำคัญคงอยู่ที่คำว่า อคติ เพราะเมื่อไรก็ตามที่เป็นอคติ เมื่อนั้นก็จะมองไม่เห็นมัน เพราะเรากำลังเชื่อว่าสิ่งที่กำลังกระทำหรือตัดสินใจเป็นเรื่องที่ถูกต้อง ในแง่นี้แล้วก็คงไม่ต่างจาก ปลาที่อยู่ในน้ำ ย่อมมองไม่เห็นน้ำ ฉันใดฉันนั้น อคติก็เป็นสิ่งที่เราไม่อาจรู้ ถ้ามันยังคงอยู่กับเรา สิ่งที่ผมเห็นในสังคมตอนนี้ก็คือ ผมเห็นความพยายามในการครอบงำและควบคุมเด็ก ภายใต้อคติที่ว่า เด็กต้องโง่กว่าผู้ใหญ่เสมอ เพราะฉะนั้น ถ้าพ่อ-แม่ ผู้ปกครองคนใดสามารถควบคุมเด็กไปถึงเตียงนอนได้มากเท่าไร พวกเขาก็จะยิ่งรู้สึกปลอดภัยมากเท่านั้น ถ้าตอนนี้ใครคิดเครื่องเซ็นเซอร์ที่ติดจู๋-จิ๋มขึ้นมา ก็คงจะขายได้ดีมาก เพราะผู้ปกครองจะได้รู้ว่าเด็กของตนไปทำอะไรที่ไหนบ้าง เวลาที่พวกเขาบอกว่า ออกไปข้างนอกหรือออกไปหาเพื่อน โตมรเกริ่นนำอย่างตรงประเด็น ก่อนจะเจาะลึกถึงอคติในเรื่องราวการสอนเพศศึกษาของสังคมไทย โตมร เห็นว่า เราต่างมีฐานการสอนเพศศึกษาในการที่ควบคุมเรื่องเพศอย่างชัดเจน โดยไม่เปิดพื้นที่ทางสังคมให้กับคนที่เป็นเพศอื่นๆ (นอกจากชาย-หญิง) หรือยอมรับในความนิยมทางเพศที่ต่างไปจากตัวเอง เช่น พวกซาดิสต์-มาโซคิสต์ พวกชอบโชว์-ถ้ำมอง ที่สังคมมองในแง่ลบตลอดเวลา แต่ถ้าเปิดและยอมรับให้คนเหล่านี้เจอกัน และบอกว่าเมื่อเป็นมาโซคิสต์จะไปหาพวกที่เป็นซาดิสต์ได้จากไหน หรือถ้าเป็นพวกชอบโชว์ จะสามารถเจอกับพวกถ้ำมองได้ที่ไหน ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้แล้ว โตมรเองก็ไม่คิดว่าปัญหาจะอยู่ที่ไหนได้ ในการเรียนการสอนทางเพศศึกษา เรามักจะจำกัดเสรีภาพในการกระทำต่างๆ ในเรื่องเพศ ซึ่งส่วนหนึ่งผมก็เห็นด้วย แต่สิ่งที่ยังขาดก็คือ เสรีภาพทางเพศในการเลือก (Freedom of sexul choice) เพราะมันไม่เปิดทางเลือกที่หลากหลายให้กับสังคมและวัยรุ่น มันมีแต่จะตีกรอบและปิดขังความเชื่อทางเรื่องเพศแบบใดแบบหนึ่งเท่านั้น ดังนั้น จึงต้องพยายามตั้งคำถามกับสิ่งที่มันกดทับเราอยู่ให้ได้ เพราะไม่เช่นนั้น ก็ไม่มีวันที่จะเข้าใจว่า สิ่งที่มันเป็นคติของเรา แท้จริงมันคืออคติ เช่นเดียวกับ ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ก็ดูจะเห็นคล้องกับโตมรที่ว่า โดยหลักการแล้ว เพศศึกษาควรจะท้าทายหรือทำลายรากฐานความเชื่อชุดหนึ่งๆ แต่สิ่งที่กำลังทำอยู่ตอนนี้กลับเป็น การรักษาอคติที่สร้างปัญหาหลายๆ อย่างเอาไว้ |